
ปัจจุบันเรื่องที่จอดรถ เป็นปัญหาหนักอกหนักใจของคนมีรถ และคนมีบ้านมาก ๆ ถ้าจะบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็ไม่เกินจริง มีกรณีให้เห็นในข่าวมาแล้วไม่น้อย เนื่องจากจอดรถขวางทางเข้าออก แล้วถ้าจอดรถหน้าบ้านตัวเองผิดไหม (ในแง่ของกฎหมาย) รู้ใจลิสต์ประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้ว ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในการจอดรถของคุณได้เป็นอย่างดีตามไปดูกัน
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- จอดรถหน้าบ้านตัวเองผิดกฎหมายมั้ย?
- จอดรถหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายที่จอดรถมั้ย?
- พื้นที่ห้ามหยุดหรือจอดรถมีอะไรบ้าง?
- จอดรถในที่ห้ามจอดแล้วโดนรถชน ใครเป็นฝ่ายผิด?
- โดนรถชนในที่ห้ามจอด ประกันคุ้มครองมั้ย?
- สร้างที่จอดรถบ้านยังไง ลดปัญหาได้ดีที่สุด?
จอดรถหน้าบ้านตัวเองผิดกฎหมายมั้ย?
หากพูดในแง่มุมของกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องการจอดรถที่ถูกต้องและเหมาะสม ต้องจอดในพื้นที่จอดรถของตัวเองที่มีรั้วรอบขอบชิดเท่านั้น เนื่องจากผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถในทางสาธารณะหรือพื้นที่เอกชน แม้ว่าจะเป็นถนนภายในหมู่บ้านจัดสรร ไม่อย่างนั้นจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 ประกอบมาตรา 148 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ ซึ่งการจอดรถบนทางสาธารณะแม้จะเป็นหน้าบ้านของตัวเอง แต่สามารถสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เนื่องจากไม่สามารถสัญจร หรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวก
หากฝ่าฝืนจะเกิดอะไรขึ้น?
กรณีที่จอดกีดขวางทางเข้าออก หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น ตามที่เราบอกไปเมื่อข้างต้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และอาจมีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการจอดรถในพื้นที่สาธารณะ แม้จะว่าจะเป็นการจอดรถหน้าบ้านของตัวเอง ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาในภายหลังอีกด้วย
พื้นที่หน้าบ้าน ตามกฎหมายเป็นของใคร?
เราคงเคยเห็นพื้นที่หน้าบ้านตามหมู่บ้านจัดสรร ที่มีการใช้ประโยชน์ ตกแต่ง ปลูกต้นไม้ วางโต๊ะ แล้วรู้มั้ยว่า พื้นที่หน้าบ้านตรงนั้นไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่ติดอยู่กับบ้าน ลูกบ้านคนอื่น ๆ จึงยอมให้ใช้ประโยชน์ โดยต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่สร้างความเดือดร้อน และสำหรับใครที่เล็งจะต่อเติมที่จอดรถหน้าบ้านบนถนนในหมู่บ้าน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความเดือดร้อน และผิดกฎหมาย จำเป็นต้องรื้อทิ้งหากมีการร้องเรียน แนะนำว่า ที่จอดรถควรทำในพื้นที่ภายในรั้วบ้านของตัวเองดีที่สุด
จอดรถหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายที่จอดรถมั้ย?
ในกรณีที่จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น “ผิดกฎหมาย” ด้วยเช่นกัน โดยเจ้าของบ้านที่ถูกกีดขวางทางเข้า-ออก สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าของรถ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แล้วถ้าจำเป็นต้องจอดรถหน้าบ้านคนอื่นควรทำยังไง เพื่อลดข้อพิพาทตามมา รู้ใจลิสต์วิธีมาให้เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
- หากมีความจำเป็นต้องจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถ
- เมื่อรู้ว่าตัวเองจอดรถหน้าบ้านคนอื่น ทั้งจอดขวางทางเข้า-ออก, จอดซ้อนคัน ต้องมั่นใจว่ารถของคุณสามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่ควรใส่เบรกมือ
- เข้าเกียร์ว่างหรือเกียร์ N เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเคลื่อนย้ายรถได้สะดวก
หากไม่จำเป็นหรือไม่มีธุระเร่งด่วน ไม่ควรจอดรถหน้าบ้านคนอื่น แต่ควรจอดบริเวณพื้นที่จอดรถที่จัดเตรียมไว้ให้
พื้นที่ห้ามหยุดหรือจอดรถมีอะไรบ้าง?
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจไปแล้วว่าจอดรถหน้าบ้านคนอื่น หรือจอดรถหน้าบ้านตัวเองผิดไหม เรามาทำความเข้าใจ “พื้นที่ห้ามหยุดหรือจอดรถ” ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 กันต่อเลยดีกว่า โดยมีพื้นที่ห้ามหยุดหรือจอดรถดังนี้
- ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ ในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
- บนทางเท้า
- บนสะพานหรืออุโมงค์
- ในทางร่วมทางแยก
- ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
- ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
- ในเขตปลอดภัย
- ในลักษณะกีดขวางการจราจร
จอดรถในที่ห้ามจอดแล้วโดนรถชน ใครเป็นฝ่ายผิด?
กรณีจอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถขวางทางเข้าออก หรือจอดรถหน้าบ้านคนอื่นแล้วโดนรถชน แม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่รถคันอื่นย่อมไม่มีสิทธิ์มาเฉี่ยวชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวรถ ดังนั้นคนที่ขับรถชนจึงเป็นฝ่ายผิด เนื่องจากขับรถโดยประมาท
ทั้งนี้ตำรวจจราจรอาจพิจารณาการจอดรถด้วยว่า มีการจอดรถในลักษณะที่เสี่ยงต่อการถูกเฉี่ยวชนได้ง่ายหรือไม่ เช่น จอดในจุดที่อับสายตา จอดกีดขวางจราจร เพราะถ้าเป็นแบบนั้นอาจเข้าข่ายว่าคนจอดมีความประมาทร่วมด้วยเช่นกัน
โดนรถชนในที่ห้ามจอด ประกันคุ้มครองมั้ย?
เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อย ในกรณีไม่ได้จอดรถในพื้นที่หน้าบ้าน หรือจอดในที่ห้ามจอดแล้วโดนชน แบบนี้ประกันรถยนต์จะให้ความคุ้มครองมั้ย? หรือเราเองจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด คำตอบคือ ถ้ารถคู่กรณีทำประกันภาคสมัครใจเอาไว้ บริษัทฯ จะยังคงให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เช่นเดิม
แต่ในกรณีที่รถมาชนรถเราแล้วหนี หาคู่กรณีไม่เจอ หากรถยนต์ของคุณทำประกันชั้น 1 ไว้ก็หมดห่วง เพราะคุ้มครองการชนแบบไม่มีคู่กรณี ในขณะที่หากรถคุณทำประกันชั้นอื่น ๆ ก็ต้องจ่ายค่าซ่อมรถด้วยตัวเอง
แต่ขอย้ำไว้ตรงนี้เลยว่าการจอดรถในที่ห้ามจอด ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ล่าสุดได้มีการปรับเพิ่มอัตราโทษ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สร้างความสูญเสียแก่ผู้ใช้ทาง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
เพื่อความอุ่นใจเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ขับรถชน, รถชนกลางคืน หรือโดนรถชน การซื้อประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองตอบโจทย์ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี ที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นจะเป็นเพราะคุณจอดรถขวางหน้าบ้าน หรือจอดรถขวางทางเข้าออกก็ตาม ประกันรถที่รู้ใจให้คุณปรับแต่งแผนได้ตามใจ ลดสูงสุด 30%
สร้างที่จอดรถยังไง ลดปัญหาได้ดีที่สุด?
ใครว่าการสร้างที่จอดรถในบริเวณบ้านตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจ บอกเลยว่าคิดผิด เพราะการสร้างที่จอดรถบริเวณหน้าบ้าน มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่จอดรถ เช่นเดียวกับการต่อเติมที่อยู่อาศัยหรืออาคาร มีทั้งแบบที่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องขออนุญาต ดังนี้
- การดัดแปลงขนาดพื้นบ้าน การลด หรือขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นใดชั้นหนึ่ง ให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากกว่าขึ้น จะต้องรวมกันได้ไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน (ไม่ต้องขออนุญาต)
- การดัดแปลงหลังคาบ้าน การลดหรือขยายเนื้อที่ของหลังคาให้มีเนื้อที่มากขึ้น ซึ่งรวมกันจะต้องไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน (ไม่ต้องขออนุญาต)
- ส่วนการต่อเติมที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 5 ตารางเมตรขึ้นไป จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางหน่วยงานราชการก่อน
ระยะร่นระหว่างแนวเขตที่ดิน ในการสร้างที่จอดรถ
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและเพื่อนบ้านโดยรอบ ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จึงมีการกำหนดให้การก่อสร้างหรือต่อเติมจะต้องมีระยะห่างระหว่างอาคาร และระยะร่นจากรั้วดังต่อไปนี้
- ผนังด้านที่เป็นช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินมากกว่า 2 เมตร ส่วนผนังที่สูงเกิน 9 เมตร ให้ห่างจากเขตที่ดิน 3 เมตร
- ผนังที่ไม่มีช่องเปิด (ผนังทึบ) ต้องห่างจากเขตที่ดินมากกว่า 0.50 เมตร ยกเว้นได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงแล้วเท่านั้น
- ขอบเขตตัวบ้านจะต้องไม่เกิน 70% ของที่ดิน ส่วนอีก 30% ที่เหลือสามารถจัดสรรเป็นพื้นที่อื่น ๆ ได้ตามสะดวก
- ระยะห่างจากชายคาและกันสาด ทั้ง 2 อย่างจะต้องห่างจากแนวเขตพื้นที่ไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร
ขนาดที่จอดรถตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ที่จอดรถยนต์ 1 คัน จะต้องมี
- ขนาด 2.40 x 5.00 เมตร (เป็นอย่างต่ำ)
- ควรเผื่อพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าไว้ 0.70 เมตร และ 0.40 เมตร
- เพดานควรสูงอย่างน้อย 2.50 เมตร
นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญในส่วนของขนาดมาตรฐานของทางลาดด้วย โดยจะต้องไม่เกิน 1:8 เช่น ความสูงของพื้นต่างจากถนน 30 เซนติเมตร ต้องมีความยาวของทางลาดอยู่ที่ 2.40 เมตร
เชื่อว่าหลายคนคงได้คำตอบแล้วว่าจอดรถหน้าบ้านคนอื่น หรือจอดรถหน้าบ้านตัวเองผิดไหม เพื่อป้องกันข้อพิพาทและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา แนะนำให้จอดในที่จอดรถที่เตรียมไว้ให้จะดีที่สุด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เพราะมีเหตุจำเป็นหรือใด ๆ แนะนำให้ขออนุญาตและแจ้งเจ้าของบ้านหรือทิ้งเบอร์ติดต่อเอาไว้ เพียงเท่านี้จะช่วยลดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่งแล้วล่ะ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ข้อพิพาท | ข้อขัดแย้งระหว่างคู่กรณี |
บ้านจัดสรร | บ้านที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกบ้านสามารถเข้าอาศัยได้ทันทีและลูกบ้านจะได้รับกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินนั้นอีกด้วย |
ระยะร่น | ระยะห่างที่วัดจากตำแหน่งบนทางสาธารณะจนถึงแนวอาคาร |
เขตปลอดภัย | เขตปลอดภัย เส้นก้างปลา หรือเกาะสี เป็นเครื่องหมายจราจรที่มีลักษณะเป็นเส้นทึบสีขาวหรือสีเหลือง ตีในลักษณะทแยงกับทิศทางการจราจร หรือเป็นรูปก้างปลา มักจะทาไว้บริเวณกลางถนนหรือริมถนนด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อบ่งบอกว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขับรถล้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว” |