แค่บอกว่า ซื้อประกัน สำหรับใครหลายคนช่างดูเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวจริง ๆ นั่นเป็นเพราะมีคำศัพท์ที่ดูเข้าใจยากอยู่มากมาย ยิ่งกับการ ซื้อประกันรถยนต์ ที่มีเรื่องราวเฉพาะทางอยู่มากจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับเรื่อง ศัพท์ประกันรถยนต์ กันอยู่พอสมควร จริง ๆ แล้วคำศัพท์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ เพียงแค่ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับศัพท์เกี่ยวกับการทำประกันรถยนต์ให้ถ่องแท้เท่านั้น
รู้ใจชวนทุกคนเปิดประตูสู่ขุมทรัพย์แห่งความรู้ กับคำศัพท์พื้นฐานสำหรับการทำประกันรถยนต์ที่มือใหม่และมือเก่าทุกคนควรรู้ เพื่อว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่เป็นใจใด ๆ จะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที พร้อมทั้งสามารถช่วยให้คุณตรวจสอบรูปแบบของการทำประกันภัยได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
ศัพท์ประกันรถยนต์ ควรเข้าใจถูกต้องก่อนทำประกันภัยรถยนต์
สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อยามเกิดเหตุอันไม่เป็นใจกับรถยนต์คันเก่งของคุณ นั่นคือ การที่คุณไม่รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้กลายเป็นทำให้คุณพลาดสิทธิ์ในการทำประกันภัยไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างแรกที่คุณควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้คือ ศัพท์ประกันภัยรถ ในรูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง ที่จะเป็นกุญแจไขประตูสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำประกันภัยสำหรับรถยนต์ได้อย่างถูกต้อง
เชื่อเหลือเกินว่านักขับจำนวนมากแทบไม่รู้ความหมายของคำศัพท์เกี่ยวกับการทำประกันรถยนต์ เมื่อต้องการซื้อประกันภัยหรือต้องนำรถเข้าอู่ซ่อม ก็พบกับปัญหานานาประการ โดยเฉพาะไม่เข้าใจในความหมายที่เขาต้องการจะสื่อว่าคืออะไร อาจส่งผลต่อการซ่อมแซมรถที่ไม่ได้รับมาตรฐานหรือดูเหมือนว่าได้รับการดูแลไม่คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไป ดังนั้นการทำความรู้จักเกี่ยวกับการทำประกันภัยรถยนต์ให้รอบด้านย่อมช่วยให้คุณได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างครบถ้วนครอบคลุมรูปแบบการทำประกันรถยนต์ในทุกอย่าง
คำศัพท์เกี่ยวกับการทำประกันรถยนต์ขั้นพื้นฐานที่ควรรู้
สำหรับคำศัพท์ต่าง ๆ สำหรับการทำประกันรถยนต์นั้นมีมากมาย แต่จะมีคำศัพท์เพียงแค่ไม่กี่รูปแบบเท่านั้นที่จะพบเห็นได้บ่อยตอนคุณเลือกซื้อประกันรถยนต์ และหากนักขับทุกคนรู้ความหมายเกี่ยวกับคำศัพท์เหล่านี้ ย่อมเข้าใจสถานการณ์และความครอบคลุมเกี่ยวกับการทำประกันภัยรถยนต์ได้อย่างถ่องแท้ ไปดูกันว่ามีคำว่าอะไรบ้าง
1.กรมธรรม์ (Policy) หัวใจสำคัญของความคุ้มครองทั้งหมด
สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้ยินก่อนสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นการทำประกันในรูปแบบไหน นั่นคือคำว่า กรมธรรม์ (Policy) นั่นเอง กรมธรรม์ที่ว่านั้นหากจะให้คำนิยามกันอย่างชัด ๆ หลาย ๆ คนคงให้คำตอบได้ไม่เต็มปากแน่ว่ามีความหมายอย่างไร แต่พื้นฐานความหมายในคำนี้คือ หนังสือที่ระบุข้อตกลงต่าง ๆ ในการทำประกันระหว่างเจ้าของรถกับผู้รับผิดชอบในการดูแลประกันภัยรถยนต์ให้กับคุณ โดยที่ในหนังสือนี้จะมีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะ เบี้ยประกัน ระยะเวลาเอาประกัน และจำนวนเงินเอาประกัน เป็นต้น
2.ผู้รับประกัน / ผู้เอาประกัน / ผู้รับผลประโยชน์
ในการทำประกันภัยให้กับรถยนต์ในแต่ละครั้งจะมีผู้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สำหรับการทำประกันอยู่สามรายได้แก่
- ผู้รับประกัน หมายถึง ผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายเมื่อมีเหตุอันใดเกิดขึ้นกับรถของคุณ หรือทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ คือ บริษัทประกันภัยที่คุณสมัครนั่นเอง
- ผู้เอาประกัน หมายถึง คู่สัญญาที่ซื้อประกันจาก ผู้รับประกัน หรือบริษัทประกันภัย นั่นคือ ตัวของผู้ซื้อประกันรถยนต์
- ผู้รับผลประโยชน์ ในส่วนนี้เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม นั่นคือ เป็นการมอบสิทธิ์ในความคุ้มครองให้กับบุคคลอื่นตามที่ผู้ทำประกันได้ระบุไว้ อาจเป็นได้ทั้งตัวผู้ทำประกันเอง หรือ บุคคลอื่น อาทิ รถยนต์เกิดความเสียหายในขณะที่ยังผ่อน ในการทำประกันมักระบุให้เป็นบริษัทที่จำหน่ายรถยนต์จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดเป็นต้น
3.ทุนประกัน (Sum Insured)
คือ วงเงินสำหรับการขอรับประกันในกรณีต่าง ๆ สำหรับการซ่อมแซม หรือชดเชยค่าเสียหาย สามารถทำทุกอย่างได้ตามจำนวนทุนประกันที่มี เช่น ทำทุนประกันไว้ที่ 150,000 บาท นั่นหมายถึงมีวงเงินสำหรับการซ่อมแซมรถคือ 150,000 บาทเท่านั้น และต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าซ่อมได้กี่ครั้ง และซ่อมในกรณีไหนบ้างอีกด้วย
4.ค่าสินไหมทดแทน (Claim Amount)
หลายคนสับสนในเรื่องของ ค่าสินไหมทดแทน กับ ทุนประกัน ด้วยเข้าใจว่าเป็นตัวเดียวกัน สำหรับทุนประกันคือวงเงินทั้งหมดที่ประกันภัยรถยนต์ครอบคลุมอยู่ แต่สินไหมทดแทนคือ ค่าเสียหายที่บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบอุบัติเหตุ หรือการซ่อมแซมอย่างหนึ่งอย่างใดตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะไม่เกินจำนวนทุนประกันทั้งหมด
5.ประกันรถยนต์ภาคบังคับ / ภาคสมัครใจ
สำหรับรถยนต์ทุกประเภทในประเทศไทยจะต้องมีการทำประกันเอาไว้ด้วย นั่นคือประกันรถยนต์ภาคบังคับหรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อของ พ.ร.บ. นั่นเอง ความครอบคลุมของ พ.ร.บ. จะดูแลเฉพาะตัวผู้ขับขี่และคู่กรณีเท่านั้นโดยมีวงเงินดูแลจำนวน 500,000 บาท กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง
และหากต้องการการดูแลจากประกันรถยนต์เพิ่มเติม เจ้าของรถทุกคนยังสามารถเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจได้อีกด้วย ที่เราเข้าใจกันด้วยคำง่าย ๆ ว่า ประกันชั้น 1,2,3 เป็นต้น ความคุ้มครองต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับแผนประกัน และเบี้ยประกันที่เราเลือกจ่ายให้บริษัทประกันนั่นเอง
6.ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ (Excess) / ภาคสมัครใจ (Deductible)
เป็นคำที่เจ้าของรถทุกคนต้องศึกษาเอาไว้ให้ดี เพราะยามมีเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาแล้วมาเจอคำนี้จะทำให้ไม่เข้าใจพาลโมโหบริษัทประกันภัยด้วย เพราะในรูปแบบการทำประกันนั้น ในบางกรณีผู้ขับขี่จะต้องชำระค่าเสียหาย หรือค่าซ่อมแซมในเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน
สำหรับความหมายของ ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ (Excess) เป็นส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นแบบไม่มีคู่กรณี เช่น ขับรถเบียดเสาถลอก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มีจำนวนเงินเจ้าของรถต้องเป็นผู้ออกค่าความเสียหายก่อนที่ประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อเหตุการณ์
และในส่วนของค่าความเสียหายส่วนแรก ภาคสมัครใจ (Deductible) จะต้องใช้ต่อเมื่อผู้เอาประกันเป็นผู้กระทำผิดในอุบัติเหตุนั้น ๆ โดยทางผู้เอาประกันจะต้องชำระค่าเสียหายในส่วนแรกตามกรมธรรม์ได้ระบุเอาไว้ โดยส่วนใหญ่มีจำนวนประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อเหตุการณ์ ด้วยเช่นกัน
7.ซ่อมห้าง / ซ่อมอู่
เป็นอีกหนึ่งคำศัพท์สำคัญที่ทุกคนต้องเจอนับตั้งแต่วันแรกในการทำประกัน นั่นคือ ทางบริษัทประกันจะให้คุณเลือกทำประกันรถยนต์ในสองรูปแบบ คือ การซ่อมห้าง หมายถึงการซ่อมกับบริษัทผู้ผลิตรถโดยตรง ส่วนการซ่อมอู่ คือ การนำรถเข้าซ่อมกับอู่ซ่อมรถที่อยู่ภายใต้สัญญาการทำประกันกับทางบริษัท
โดยที่การซ่อมอู่นั้นจะต้องดูเงื่อนไขให้ดีว่า ซ่อมอู่ใดได้บ้าง และถ้าไปซ่อมอู่อื่นที่ไม่ใช่อู่ในสังกัดทางบริษัทจะรับผิดชอบหรือไม่ และที่สำคัญ หากต้องการซ่อมกับบริษัทรถยนต์ผู้ผลิตโดยตรง การทำประกันแบบซ่อมอู่จะไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้เลย
ข้อแตกต่างของการทำประกันในรูปแบบของการซ่อมห้างและซ่อมอู่ คือ เบี้ยประกันนั่นเอง การทำประกันแบบซ่อมอู่ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่นั่นหมายถึงการดูแลที่ลดระดับ และมีข้อจำกัดในการหาอู่เข้าซ่อมนั่นเอง
8.เคลมสด / เคลมแห้ง
อีกหนึ่งคำศัพท์สำคัญที่ทางผู้เอาประกันต้องรู้ไว้กับความหมายของคำว่า เคลมสด/เคลมแห้ง ที่มักเข้าใจกันว่าเป็นรูปแบบการทำประกันที่ลูกค้าต้องจ่ายเงิน (เงินสด) ในการจัดการก่อน หรือไม่ต้องจ่ายเลย (แห้ง) ที่ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก
ความจริงแล้วสำหรับการเคลมสด หมายถึง การติดต่อบริษัทประกันเพื่อทำการดำเนินเรื่องในทันที ส่วนมากแล้วจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่มีคู่กรณี จะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทติดต่อประสานงาน ณ ที่เกิดเหตุพร้อมออกใบเคลมประกันให้ ส่วนในการเคลมแห้ง หมายถึงการเกิดความเสียหายใด ๆ กับตัวรถมาแล้วช่วงเวลาหนึ่งแล้วถึงค่อยแจ้งเคลมประกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณีนั่นเอง
คำศัพท์เกี่ยวกับการทำประกันภัยน่ารู้สำหรับทุกคน จะช่วยให้ทุกจังหวะการตัดสินใจเลือกซื้อประกัน และนำรถเข้ารับบริการยามเกิดเหตุไม่เป็นใจจะสามารถทำตามขั้นตอนของการขอรับประกันได้อย่างครบถ้วน หากคุณต้องการความมั่นใจในระดับดีที่สุด ให้ รู้ใจ ประกันออนไลน์ ช่วยดูแลคุณ พร้อมให้ความกระจ่างชัดในการทำประกันทุกรูปแบบสำหรับรถยนต์ของคุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)