ประกันภัยรถยนต์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ของคนใช้รถ นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างรถหาย ไฟไหม้รถ หรือภัยธรรมชาติ การมีประกันรถยนต์จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ โดยปกติเมื่อเกิดเหตุแล้วเราก็จะแจ้งเคลมทันที แต่คำถามก็คือ เราสามารถ “แจ้งเคลมประกันย้อนหลัง” ได้มั้ย? หรือแบบไหนที่ทำไม่ได้ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ควรรู้ ตามรู้ใจไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันเลยดีกว่า
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- แจ้งเคลมประกันย้อนหลัง คืออะไร?
- หลังเกิดอุบัติเหตุ แจ้งเคลมประกันย้อนหลังภายในกี่วัน?
- ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร?
- ขั้นตอนการเคลมประกันย้อนหลัง มีอะไรบ้าง?
- จะเกิดอะไรขึ้น หากแจ้งเคลมประกันแล้ว แต่ไม่นำรถไปซ่อม?
แจ้งเคลมประกันย้อนหลัง คืออะไร?
การแจ้งเคลมประกันย้อนหลังนั้นเป็นการเคลมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถคันที่เอาประกัน ‘หลังเกิดเหตุ’ ไปแล้วระยะหนึ่ง หรือเคลมประกันรถยนต์รอบคันก่อนหมดระยะความคุ้มครอง หลายคนคุ้นเคยกันดีในชื่อว่า “เคลมแห้ง” ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นความเสียหายที่เกิดจากการเฉี่ยวชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การแจ้งเคลมประกันย้อนหลัง “สามารถทำได้” หากผู้เอาประกันสามารถแจ้งรายละเอียดเหตุการณ์ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ รวมถึงรายละเอียดคู่กรณี (ถ้ามี) เพื่อการเรียกค่าสินไหมจากคู่กรณี โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำประกันชั้น 1 ต้องมีข้อมูลติดต่อคู่กรณีได้เท่านั้น (การเคลมประกันชั้น 1 ที่ติดต่อคู่กรณีไม่ได้ ถือว่าเป็นการเคลมแบบไม่มีคู่กรณี) แล้วรอให้บริษัทประกันเข้าตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง
จากนั้นรอรับ ใบเคลมประกัน หรือใบประเมินความเสียหาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถเข้าซ่อมที่อู่หรือศูนย์บริการ ทั้งนี้ผู้เอาประกันอาจต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก (Excess) ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
หลังเกิดอุบัติเหตุ แจ้งเคลมประกันย้อนหลังภายในกี่วัน?
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชน รถเฉี่ยว หรือใด ๆ ก็ตามที่ทำให้รถมีร่องรอยความเสียหายเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีเวลา ประกอบกับสามารถคุยกับคู่กรณีได้ ที่สำคัญมีการเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ครบถ้วนแล้ว ส่วนใหญ่จะแจ้งประกันสำหรับเคลมแห้งได้ ‘ภายใน 2-3 วัน’ ซึ่งไม่ควรช้าไปกว่านี้
เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานกว่า 2-3 วัน แล้วมีร่องรอยความเสียหายเพิ่มขึ้น ประกันภัยจะไม่คุ้มครองร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากอุบัติเหตุนั้น ๆ ทำให้ผู้เอาประกันอาจต้องควักจ่ายเพิ่มเติม หรือต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก
ค่าเสียหายส่วนแรกคืออะไร?
ค่าเสียหายส่วนแรกสำหรับประกันรถยนต์ คือจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเองเมื่อเกิดการเคลมประกันสำหรับกรณีที่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดและไม่มีคู่กรณี โดยค่าเสียหายส่วนแรกมีอยู่ 2 แบบ คือ ค่า deductible และค่า excess ซึ่งจะแตกต่างกันยังไงไปดูกัน
1. ค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ Excess
ค่า Excess คือ ค่าเสียหายส่วนแรก “ภาคบังคับ” ที่ คปภ. กำหนดให้รถประกันร่วมรับผิดส่วนแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี และไม่ได้มีระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ ซึ่งค่า Excess ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1,000 บาท โดยค่า Excess จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันรถยนต์ได้
2. ค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจ Deductible
ค่า Deductible คือ ค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันยินยอมจ่ายให้กับบริษัทประกันภัยด้วยความ “สมัครใจ” ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดหรือไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้ และต้องการเคลมรถโดยมีระบุไว้ชัดเจนในกรมธรรม์ ซึ่งในขั้นตอนการทำประกันจะมีเงื่อนไขให้เราสามารถเลือกที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายค่า Deductible ซึ่งค่า Deductible โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1,000 ถึง 5,000 บาท ยิ่งเลือกจ่ายค่า Deductible สูง ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ก็จะยิ่งลดลง
ขั้นตอนการเคลมประกันย้อนหลัง มีอะไรบ้าง?
สำหรับวิธีเคลมประกันรถยนต์ย้อนหลังหรือการเคลมแห้ง มีดังนี้
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการแจ้งเคลมประกันแบบเคลมแห้ง มีดังนี้
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
- สำเนาทะเบียนรถ
- สำเนาใบขับขี่
โดยเอกสารทั้ง 3 อย่างข้างต้น ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีเคลมประกันสดหรือเคลมแห้งก็ตาม แนะนำให้เตรียมไปให้พร้อม เพื่อป้องกันการเสียเวลาที่อาจเกิดขึ้น
วิธีเคลมประกัน แบบเคลมแห้ง
ในส่วนของการเคลมประกัน แบบเคลมแห้ง ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการโทรแจ้งเคลมบริษัทประกันภัยที่ทำประกันไว้ พร้อมกับแจ้งวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ รวมถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
จากนั้นระบุวันที่จะนำรถเข้าไปเคลมที่อู่หรือศูนย์ซ่อม แนะนำให้หาอู่ที่สะดวก (ใกล้บ้าน) ก่อน หลังจากแจ้งเคลมประกันและมีการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่เคลมแล้ว ทางบริษัทประกันจะออกใบเคลมให้ซึ่งผู้เอาประกันสามารถนำรถเข้าไปซ่อมที่อู่หรือศูนย์บริการ ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้เลย
จะเกิดอะไรขึ้น หากแจ้งเคลมประกันแล้ว แต่ไม่นำรถไปซ่อม?
กรณีที่ผู้เอาประกันแจ้งเคลมประกันรถยนต์เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่นำรถไปซ่อมอาจทำให้เกิด ‘ผลกระทบ’ ตามมา ดังนี้
- เสียประวัติ หากมีการแจ้งเคลมประกันเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เอาประกันไม่นำรถเข้าซ่อมตามวันและเวลาที่กำหนด บริษัทประกันจะถือเป็นการ ‘เสียประวัติ’ อาจทำให้เบี้ยประกันปีถัดไปแพงขึ้น และทำให้ไม่ได้รับส่วนลดอีกด้วย
- เสียผลประโยชน์ รถยนต์ของคุณก็ยังมีร่องรอยความเสียหายตามเดิม ไม่ได้รับการดูแล หรือซ่อมให้เหมือนใหม่
- ใบเคลมหมดอายุ ตามปกติแล้วใบเคลมประกันจะมีอายุประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับบริษัทประกัน หากไม่รีบนำรถเข้าซ่อมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้ลืมจนประกันหมดอายุไปก่อน แต่ถ้าหากต้องการเก็บไว้เพื่อ “เคลมทีเดียว” ตอนประกันใกล้หมด แนะนำให้บันทึกแจ้งเตือนไว้ล่วงหน้า
ต่อให้คุณจะเคลมประกันชั้น 1 ที่คุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุอย่างครบครัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการแจ้งเคลมประกันรถยนต์อีกเพียบ ที่ผู้เอาประกันไม่ควรปล่อยผ่าน โดยเฉพาะการเคลมสดและเคลมแห้ง รวมถึงค่าสินไหมต่าง ๆ หากไม่อยากเสียผลประโยชน์ไม่รู้ตัว แนะนำให้ทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีเสมอ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ผ่อนหนักเป็นเบา | ลดความรุนแรงลง |
ค่าสินไหม | เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคลอันเนื่องมาจากการละเมิด หรือการผิดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหาย |
เคลมสด | การแจ้งเคลมประกันภัยทันทีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ต้องการเคลม โดยมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันภัยมาที่จุดเกิดเหตุเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินความเสียหายทันที |