“ซื้อรถเขาไม่แถมไฟเลี้ยวหรือไง” คำจิกกัดที่ได้ยินบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ชวนโมโหบนท้องถนน ไม่เพียงแค่เสียเวลาจอดรอ การขับขี่หยุดชะงัก ก็หัวเสียพออยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่จบแค่นั้นแต่เลยเถิดถึงขั้นรถชนท้ายขึ้นมา คำถามคือ ขับรถชนท้ายเป็นคดีอะไร? ตามกฎหมายเหตุการณ์นี้ถือว่าประมาทร่วมหรือมีฝ่ายผิด? รู้ใจรวบรวมคำตอบเรื่องนี้มาให้แล้ว ตามไปดูกันเลย
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- รถชนท้ายเพราะไม่เปิดไฟเลี้ยว ใครเป็นฝ่ายผิด?
- รถชนท้าย เคลมประกันได้มั้ย?
- ไม่เปิดไฟเลี้ยว ผิดกฎหมายมั้ย?
- ใช้ไฟเลี้ยวแบบนี้ ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้
- ขับรถไม่เปิดไฟเลี้ยว พฤติกรรมประมาทที่ไม่ได้มีแค่ในไทย
รถชนท้ายเพราะไม่เปิดไฟเลี้ยว ใครเป็นฝ่ายผิด?
หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ว่าจะรถชนท้ายหรือโดนชนท้าย เปิดหรือไม่เปิดไฟเลี้ยวก็ตาม มักจบลงด้วยการตามหาคนผิดและถูก (ผู้เสียหาย) เสมอ ยิ่งเป็นกรณีชนท้ายด้วยแล้วล่ะก็ คนชนร้อน ๆ หนาว ๆ แน่นอน เพราะภาพจำส่วนใหญ่มักชี้ว่า “คนชนท้ายนั่นแหละที่ผิด”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว “คนที่ชนท้ายอาจไม่ได้ผิดเสมอไป” เพราะตามกฎหมาย กรณีรถชนกัน ต้องพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย โดยมีปัจจัยที่น่าสนใจดังนี้
1. ขับปาดหน้า
สำหรับเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่ทำให้โดนรถชนท้าย ในกรณีที่เบรกกะทันหันอาจจะต้องพิจารณาได้ด้วยว่า เป็นเหตุสุวิสัย อย่างเช่น มีรถขับปาดหน้าจนทำให้ต้องเบรกกะทันหันแล้วเกิดการขับชนท้าย ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาจากสถานการณ์ด้วยว่าคุณนั้นเว้นระยะห่างเพียงพอกับรถคันข้างหน้าหรือไม่ รวมถึงขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดมั้ย เป็นต้น
2. การเว้นระยะห่าง และความเร็ว
การใช้รถใช้ถนนจำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างตามที่กฎหมายจราจรกำหนด พูดง่าย ๆ คือ ขับรถห่างคันหน้าในระยะที่หยุดได้อย่างปลอดภัย ไม่ขับกระชั้นชิดหรือขับจี้เกินไป จงรู้ไว้ว่าคนขับตาม หากเว้นระยะห่างและความเร็วตามกฎหมายกำหนด แม้คันหน้าจะเปิดไฟเลี้ยวหรือไม่เปิด ยังไงก็เบรคทัน ไม่เกิดอุบัติเหตุ กลับกันถ้าเป็นพวกชอบขับจี้คันหน้า ขับเร็ว ไม่เว้นระยะห่างที่เหมาะสม โอกาสชนคันหน้าย่อมมีสูงกว่าและผู้ที่ไม่เว้นระยะห่างระหว่างขับรถจะเป็นฝ่ายผิดในทันทีเมื่อเกิดเหตุ
3. เปลี่ยนเลนกะทันหัน
การที่รถคันหน้าเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหันหรือปาดแซงโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว ถือว่ารถคันนั้นเป็นฝ่ายผิดทันที เพราะการเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหันจะทำให้รถคันด้านข้างไม่ได้ตั้งตัวทำให้เกิดการชนท้าย
แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ว่า รถคันที่ต้องการเปลี่ยนเลนทำการเปิดไฟเลี้ยวเรียบร้อยแล้ว คันที่มาทางตรงกลับขับขี่ด้วยความเร็ว หรือจงใจขับเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้รถคันดังกล่าวเปลี่ยนเลน จนทำให้เกิดเหตุการณ์รถชนท้าย แบบนี้จะถือว่า “รถทางตรงเป็นฝ่ายผิด” หรือบางกรณีก็นับเป็นประมาทร่วมได้เช่นกัน
4. โดนรถชนท้ายจนไปชนคันหน้า
กรณีที่เกิดเหตุการณ์รถชนบนท้องถนน มีรถยนต์ได้รับความเสียหายมากกว่า 2 คันขึ้นไป และคุณก็เป็นคันที่สองที่โดนชนท้ายจนทำให้รถเคลื่อนไปชนคันด้านหน้า ในกรณีนี้รถคันที่ 3 จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
5. มีอาการมึนเมา
“เมาแล้วขับ” หนึ่งในชนวนเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และคร่าชีวิตเพื่อนร่วมถนนมานักต่อนัก อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดมักเกิดจากการเมาแล้วขับ ถ้าหากตรวจแล้วพบว่า “ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้บริษัทประกันจะไม่ให้ความคุ้มครองอีกด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขอีกด้วยด้วย
รถชนท้าย เคลมประกันได้มั้ย?
รถยนต์ที่มีประกันภัยภาคสมัครใจ เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกรณีรถชนท้ายเพราะไม่เปิดไฟเลี้ยว บอกไว้ตรงนี้เลยว่าประกันพร้อมให้ความช่วยเหลือคุณเสมอ แนะนำว่าเมื่อเกิดเหตุ “ไม่ควร” ตกลงรับผิดชอบกับคู่กรณีในทันที ควรรอให้เจ้าหน้าที่ประกันมาไกล่เกลี่ยจะดีกว่า
เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว จำเป็นต้องใช้หลักฐานในการประกอบการพิจารณาร่วมด้วย เพราะหากไม่ผิดจริงอาจเสียเปรียบได้ โดยความคุ้มครองจากประกันแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. รถชน เราเป็นฝ่ายถูก
หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นคุณเป็นฝ่ายถูก แบบนี้ไม่ต้องห่วงเลย เพราะประกันของคู่กรณีต้องรับผิดชอบความเสียหายตามจริง โดยประกันของเราจะเป็นผู้ช่วยไกล่เกลี่ยและเรียกร้องกับประกันคู่กรณีให้
2. รถชน เราเป็นฝ่ายผิด
ในกรณีที่รถชนท้ายแล้วคุณเป็นฝ่ายผิด แบบนี้ประกันจะให้รับผิดชอบค่าเสียหายของคู่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ พร้อมจัดการภาระต่าง ๆ และเดินเรื่องแทนคุณทั้งหมด โดยในส่วนของค่าซ่อมรถจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
- หากคุณทำประกันชั้น 1 2+ และ 3+ ประกันของคุณจะรับผิดชอบความเสียหายทั้งรถคุณและคู่กรณี
- หากคุณทำประกันชั้น 2 และ 3 ไม่คุ้มครองความเสียหายของรถของคุณ แต่คุ้มครองความเสียหายของรถคู่กรณี
แต่หากมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งประกันรถภาคสมัครใจ และพ.ร.บ.จะคุ้มครองทุกคนในอุบัติเหตุ ไม่ว่าเป็นตัวคุณ คู่กรณี หรือผู้โดยสารก็ตาม
ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายโดนชนท้าย หรือขับรถชนท้ายคนอื่น จากกรณีเปิด-ไม่เปิดไฟเลี้ยวก็ตาม การมีประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม จะช่วยให้คุณอุ่นใจได้มากกว่า ประกันรถยนต์ที่รู้ใจ ให้ความคุ้มครองสูง ในราคาดี ลดสูงสุด 30% มีอู่และศูนย์ซ่อมในเครือทั่วไทยกว่า 1,600+ แห่ง
ไม่เปิดไฟเลี้ยว ผิดกฎหมายมั้ย?
สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนหากขับขี่รถยนต์ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรมีความผิดตามกฎหมายอย่างที่ทราบกันดี ในกรณี “ไม่เปิดไฟเลี้ยว” ผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ.2538) ม.36 วรรค 1, 148 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
นอกจากนี้พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ก็ได้กำหนดไว้ว่าไฟเลี้ยวด้านหน้าต้องใช้แสงสีเหลือง ติดที่ด้านหน้าจำนวน 2 ดวง ส่วนไฟเลี้ยวด้านหลังต้องใช้แสงสีเหลืองหรือแดง ติดที่ด้านท้ายจำนวน 2 ดวงหรือ 4 ดวง หากมีการติดตั้งไฟเลี้ยวสีอื่น จะต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ใช้ไฟเลี้ยวแบบนี้ ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้
ข้อมูลจากกองบังคับการตำรวจจราจร พบว่าการไม่เปิดไฟจอด ชะลอ หรือเลี้ยว ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 700 คนต่อปี หากไม่อยากเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงจุดหมาย การให้สัญญาณไฟในระยะที่เหมาะสม ถูกต้อง ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างมาก โดยวิธีการเปิดไฟเลี้ยวเพื่อป้องกันรถชนท้ายหรือโดนชนท้ายมีดังนี้
- รถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้า 30 เมตร
- รถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้า 60 เมตร
- รถจักรยานยนต์ ก่อนถึงทางร่วมทางแยก ให้เปิดไฟเลี้ยวล่วงหน้าประมาณ 10-15 เมตรก่อนถึงทางแยก
ขับรถไม่เปิดไฟเลี้ยว พฤติกรรมประมาทที่ไม่ได้มีแค่ในไทย
หากคุณคิดว่าพฤติกรรมการขับรถไม่เปิดไฟเลี้ยว จนทำให้โดนชนท้ายหรือรถชนท้ายมีแค่ในประเทศไทย แต่พฤติกรรมชวนปวดหัวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก
ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
เรื่องราวเริ่มจากนายแพทย์ John Golia จากเมือง Fort Lauderdale ตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ได้เข้ามาตั้งคำถามบนเว็บไซต์ Sun-Sentinal ถึงประเด็น “ทำไมผู้ขับขี่ชาวฟลอริดาจึงไม่ค่อยให้สัญญาณไฟเลี้ยวกันเลย” ซึ่งข้อสงสัยดังกล่าว ทำเอาประชาชนคนอื่น ๆ เข้ามาแชร์ประสบการณ์สุดเซ็งเป็นจำนวนมาก และในท้ายที่สุดผู้คนทั้งโลกก็ได้รับการแถลงไข
ผลสำรวจโดย Response Insurance เมื่อปี 2006 พบว่าพลเมืองสหรัฐกว่า 57% ไม่เปิดไฟเลี้ยวขณะเปลี่ยนเลน ก่อนสมทบด้วยผลการสำรวจจากสมาคมวิศวกรยานยนต์ ในปี 2012 ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากรถยนต์กว่า 12,000 คัน บนทางหลวงในโอไฮโอ พบว่ามีผู้ไม่เปิดไฟเลี้ยวขณะเปลี่ยนเลนเป็นจำนวนกว่า 48%
นอกจากนี้ยังได้มีการสอบถาม เพื่อเฟ้นหาคำตอบที่หลายคนสงสัย ว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยเปิดไฟเลี้ยวขณะเปลี่ยนเลนกัน? โดยคำตอบที่ได้มีดังนี้
- ผู้ขับขี่กว่า 42% ให้เหตุผลว่า “เปิดไฟเลี้ยวไม่ทัน”
- ผู้ขับขี่กว่า 23% กล่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า “ไม่เปิดไฟเลี้ยวเพราะขี้เกียจ”
- ผู้ขับขี่กว่า 17% ยอมรับโดยดีว่า “ลืม”
- ผู้ขับขี่กว่า 12% บอกว่า “เพราะเปลี่ยนเลนบ่อย เลยไม่อยากให้กังวล หรือรำคาญกับสัญญาณไฟ”
- ผู้ขับขี่กว่า 8% บอกว่า “เห็นใคร ๆ เขาก็ไม่เปิดกัน”
- ผู้ขับขี่กว่า 7% ชี้แจงอย่างหน้าตาเฉยว่า “มันช่วยสร้างความท้าทายในการขับขี่”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์รถชนท้าย เนื่องจากไม่เปิดไฟเลี้ยว เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ แถมยังเป็นอุบัติเหตุน่าปวดหัว เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ดังนั้นหากไม่อยากโดนรถชนท้ายควรใช้ไฟเลี้ยวให้ถูก หรือถ้าไม่อยากไปจิ้มท้ายรถคันข้างหน้า ก็พยายามเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้มากแล้วล่ะ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
พฤติกรรมประมาท | การกระทำที่ขาดความรอบคอบหรือความระมัดระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงหรืออันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้ |
เป็นฝ่ายผิด | การกระทำของบุคคลใดคนหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทั้งทางร่างกายหรือทรัพย์สิน |
มักง่าย | ทำสิ่งใดโดยเอาแต่ความสะดวก |