ภาษีรถยนต์ เป็นเรื่องที่เจ้าของรถทุกคนต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการถือครองเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของรถ สำหรับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน เพียงแต่ต้องหมั่นตรวจเช็คภาษีรถยนต์ ทั้งในส่วนของวันเวลาหมดอายุ ขั้นตอนการเดินเรื่อง เพราะการนำรถที่ไม่ได้ต่อภาษีหรือหมดอายุแล้วออกไปใช้งานตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกจะถือว่า “เป็นรถที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้” เพราะถือว่าผิดกฎหมายจะต้องถูกปรับตามขั้นตอนกระบวนการที่เกิดขึ้น ดังนั้นในแต่ละปีเจ้าของรถควรทำการบันทึกหรือตรวจสอบภาษีรถยนต์ของตนเองอยู่เสมอว่า ถึงเวลาที่จะต่อภาษีใหม่แล้วหรือยัง
วันนี้รู้ใจแชร์ทริคและขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ได้มั้ย? ต้องเตรียมตัวเตรียมเอกสารอะไร? ต้องตรวจสภาพรถมั้ย? เป็นทริคที่ไม่ว่าจะมือใหม่หัดขับและเจ้าของรถทุกคนควรรู้ ด้านล่างนี้เลย
ทำไมต้องจ่ายภาษีรถ?
ภาษีรถยนต์ คือ การจ่ายภาษีสำหรับรถยนต์ของคุณเพื่อการใช้งานบนท้องถนน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จากภาษีรถที่เจ้าของรถจ่ายไปนั้นนำมาบำรุงถนน ทั้งการสร้างถนนใหม่ ซ่อมแซม ปรับปรุง รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ และอีกหนึ่งเหตุผลคือ ป้องกันรถผิดกฎหมายเข้ามาในระบบ เช่น รถที่ถูกโจรกรรมมา เป็นต้น โดยการต่อภาษีจะต้องมีการระบุชื่อของเจ้าของรถเอาไว้เพื่อการตรวจสอบและใช้งานอย่างถูกต้อง
เรื่องควรรู้ก่อนต่อภาษีรถยนต์ในแต่ละครั้ง
การต่อภาษีรถยนต์ในแต่ละรอบที่เจ้าของรถต้องใส่ใจและหมั่นตรวจสอบวงรอบการต่อภาษีในแต่ละครั้งเพื่อให้เจ้าของรถสามารถนำรถไปต่อภาษีได้ตามช่วงเวลา ไม่เกิดความผิดพลาดใด ๆ จึงขอแนะนำขั้นตอนการต่อภาษีแบบง่าย ๆ อ่านครั้งเดียวจบ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบเวลาภาษีหมดอายุ
สามารถตรวจสอบเวลาหมดอายุของภาษีรถยนต์ของคุณได้จากแผ่นป้ายรูปสี่เหลี่ยมที่ได้มาหลังจากต่อภาษีในแต่ละครั้ง โดยจะมีการระบุการใช้งานและวันหมดอายุเอาไว้ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปี นับจากการต่ออายุ
2. เผื่อระยะเวลาสำหรับการต่อภาษี
เจ้าของรถสามารถนำรถมาต่อภาษีได้ก่อน 90 วันที่ป้ายภาษีจะหมดอายุ เพื่อให้เจ้าของรถสามารถจัดการทุนทรัพย์และเวลาได้ทันท่วงทีก่อนที่ภาษีรถจะหมด
3. เตรียมเอกสารสำคัญก่อนต่อภาษี
การต่อภาษีรถยนต์ เอกสารที่ต้องเตรียมเอาไว้คือสมุดประจำรถ ซึ่งจะใช้เป็นตัวจริงหรือตัวสำเนาก็ได้ พร้อมทั้งหลักฐานการทำประกันภัยที่กฎหมายได้บังคับเอาไว้หรือ พ.ร.บ. รถยนต์นั่นเอง และเอกสารสำหรับการตรวจสภาพรถยนต์ในกรณีที่รถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นมีอายุ 7 ปีขึ้นไป หรือรถมีการดัดแปลงสภาพจะต้องมีเอกสารฉบับนี้แนบไปทุกครั้งในการต่อภาษีรถยนต์ด้วย
4. ต่อภาษีรถยนต์ ที่ไหนดี?
ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ สามารถเลือกใช้บริการได้ตามความสะดวกและความเหมาะสมของเจ้าของรถ ดังนี้
- สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถป้ายทะเบียนของจังหวัดนั้นก็สามารถยื่นเรื่องขอจ่ายภาษีได้
- ที่ทำการไปรษณีย์
- เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ
- การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
- ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ “ชอปให้พอแล้วต่อภาษี” (Shop Thru For Tax)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
- จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษีรถยนต์ (Drive Thru For Tax)
- จุดให้บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์และต่อภาษีรถยนต์ โดยจะมีค่าบริการอยู่ที่ 200-300 บาท ต่อคัน
5. อัตราค่าบริการสำหรับการต่อภาษี
สำหรับอัตราค่าบริการในการต่อภาษีรถยนต์นั้นจะคำนวณจากที่นั่งรถ และขนาดของกำลังเครื่องยนต์เป็นหลัก โดยข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกได้ระบุอัตราการจ่ายภาษีไว้สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเอาไว้ดังต่อไปนี้
- เครื่องยนต์ขนาด 1-600 ซีซี – คิดอัตราภาษี ซีซี ละ 50 สตางค์
- เครื่องยนต์ขนาด 601-1,800 ซีซี – คิดอัตราภาษี ซีซี ละ 1.50 บาท
- เครื่องยนต์ขนาด 1,801 ซีซี ขึ้นไป – คิดอัตราภาษี ซีซี ละ 4 บาท
นอกจากนั้น สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมาหลายปีแล้ว หากต้องการต่อภาษีรถ ทางกรมการขนส่งทางบกได้ออกระเบียบการมอบส่วนลดให้สำหรับการต่อภาษีให้อีกด้วย โดยมีรูปแบบของส่วนลดต่าง ๆ ดังนี้
- อายุการรถยนต์เกิน 6 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 10%
- อายุการรถยนต์เกิน 7 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 20%
- อายุการรถยนต์เกิน 8 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 30%
- อายุการรถยนต์เกิน 9 ปี รับส่วนลดค่าภาษี 40%
- อายุการรถยนต์เกิน 10 ปีขึ้นไป รับส่วนลดค่าภาษี 50%
แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ประเภทอื่น เช่น รถกระบะสำหรับการขนส่งสินค้า หรือรถโดยสารประจำทาง รถยนต์ที่ใช้ในการรับส่งผู้โดยสาร จะต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดเอาไว้
รถขาดต่อภาษีได้มั้ย?
การขาดต่อภาษีคุณยังคงสามารถใช้รถได้อยู่ แต่หากถูกตรวจสอบเอกสารประจำรถจะมีค่าปรับเกิดขึ้นตามมา โดยระวางการปรับในกรณีขาดการต่อภาษีรถยนต์อยู่ที่ 2,000 – 10,000 บาท ตามแต่รูปแบบรถที่ใช้งาน นอกจากนั้นการต่อภาษีใหม่ยังมีค่าปรับอีกด้วย โดยหากรถของคุณขาดการต่อภาษีมาเป็นเวลา 1-3 ปี จะจ่ายค่าปรับ อยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อเดือนจากยอดของภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละครั้ง แต่หากขาดอายุไปมากกว่า 3 ปี จะต้องทำเรื่องคืนป้ายทะเบียนและขอทะเบียนใหม่ โดยมีค่าใช้จ่ายคำร้องขอขึ้นทะเบียนใหม่เพิ่มอีก 1,000 บาท เรียกว่า เสียทั้งเงินและเสียเวลาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
เรื่องภาษีรถยนต์เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ ต้องหมั่นตรวจสอบและนำรถไปต่อภาษีให้ตรงเวลาอยู่เสมอ นอกจากการวางแผนทางการเงินสำหรับค่าภาษีรถ พ.ร.บ.รถยนต์แล้ว อย่าลืมการวางแผนทางการเงินในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น อุบัติเหตุรถชน ภัยธรรมชาติหรือรถถูกโจรกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง การทำประกันรถยนต์จะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของคุณ ไม่ให้เงินเก็บหมดไปกับค่าซ่อมรถ ค่ารักษาตนเองเมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝัน รวมถึงช่วยเรื่องค่าประกันตัวในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย ที่รู้ใจมีประกันรถยนต์ที่พร้อมเดินทางเคียงข้างคุณ ช่วยคุณประหยัดถึง 30% ปรับแผนความคุ้มครองได้ตามใจ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้คุณและรถคันโปรดคู่ใจของคุณ
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)