เคยสงสัยมั้ยว่า? เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันบนท้องถนนแล้วเราเป็นฝ่ายผิด ค่าเสียเวลา ค่าทําขวัญ ประกันจ่ายมั้ย หรือมีค่าอื่น ๆ ที่อาจจะโดนเรียกเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และเมื่อโดนเรียกค่าสินไหมทดแทน รถชนต้องทำยังไง หากคุณกำลังหาคำตอบในเรื่องนี้อยู่ล่ะก็ รู้ใจได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจมาให้เรียบร้อยแล้ว ไปทำความเข้าใจกันเลยดีกว่า
- ค่าทําขวัญ คืออะไร? ประกันจ่ายมั้ย?
- อยากจ่ายค่าทำขวัญเพราะรู้สึกผิด จ่ายเลยได้มั้ย
- ค่าเสียหายอะไรบ้างที่อาจโดนเรียกเมื่อเป็นฝ่ายผิด?
ค่าทําขวัญ คืออะไร? ประกันจ่ายมั้ย?
จริง ๆ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ค่าทำขวัญ” ที่ทางคู่กรณีเรียกร้องมานั้น แม้ว่าคุณจะเป็นฝ่ายผิด แต่สามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงค่าอื่น ๆ ที่คู่กรณีเรียกร้องมาด้วย หากมองว่ามากเกินไป สามารถเดินเรื่องฟ้องร้องและขึ้นศาลได้เลย เพราะถ้าหากยึดตามหลักกฎหมาย ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องจ่ายค่าทำขวัญ ส่วนใหญ่เป็นเพียงคำที่ถูกเรียกติดปากต่อ ๆ กันมา และถูกนำไปรวมกับค่าเสียหาย โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริง ค่าเสียหายทางทรัพย์สิน ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายอื่นตามกรมธรรม์ที่พิสูจน์ได้เท่านั้น
แต่ไม่ว่ายังไงสิ่งที่ควรทำที่สุด เมื่อคู่กรณีเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ควรรอเจ้าหน้าที่ประกันมาจัดการ เพราะถ้าหากเจอคู่กรณีหัวหมอ อาจปวดหัวกับค่าทําขวัญ รถชนที่เกินจริงได้ ยิ่งถ้าเป็นค่าใช้จ่ายแปลก ๆ ที่เราไม่รู้จัก อย่างบางคนอาจโดนเรียกค่าตกใจ ค่าเสียเวลารอประกัน หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ก็ตาม เรื่องนี้ให้เจ้าหน้าที่ประกันมาช่วยเคลีย ตัวคุณเองมีหน้าที่ถ่ายรูปหรือวิดีโอบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำไปไกล่เกลี่ยนั่นเอง
อยากจ่ายค่าทำขวัญเพราะรู้สึกผิด จ่ายเลยได้มั้ย
กรณีที่คุณรู้สึกผิด หรือมองว่าจำนวนเงินที่คู่กรณีเรียกร้องมาไม่เหลือบ่ากว่าแรงจะจ่ายก็จ่ายได้ แต่จะเป็นในรูปแบบของค่าเสียหายตามเงื่อนไขกรมธรรม์แทน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายานพาหนะเสียหาย ด้วยการส่งไม้ต่อให้เจ้าหน้าที่ประกันไกล่เกลี่ยได้ทันที เว้นแต่ว่าไม่มีประกันภัยรถยนต์จะต้องไปไกล่เกลี่ยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือขึ้นโรงขึ้นศาลแทนนั่นเอง
ค่าเสียหายอะไรบ้างที่อาจโดนเรียกเมื่อเป็นฝ่ายผิด?
นอกจากทำความเข้าใจเรื่องค่าทำขวัญไปแล้ว เรามาทำความเข้าใจ “ค่าเสียหายอื่น” ก็เป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายถูกหรือคนที่โดนรถชน เรียกร้องอะไรได้บ้าง? ต้องบอกก่อนว่าตามปกติทั่วไป บริษัทจะจ่ายแค่ค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการสูญเสียรายได้ แต่จะไม่มีค่าทำขวัญใด ๆ ทั้งสิ้น แถมยังจ่ายตามค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริง ค่าขาดประโยชน์ที่สามารถพิสูจน์ได้เท่านั้นอีกด้วย
ฝ่ายถูกสามารถเรียกค่าสินไหมจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดได้ โดยหากถูกรถชนเรียกค่าอะไรได้บ้าง หลัก ๆ มีทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ค่าเสียหายของรถยนต์ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุรถชน
เมื่อรถยนต์ทั้ง 2 คันเกิดการปะทะกัน ไม่ว่าจะหนักหรือเบาย่อมเกิดความเสียหายอยู่แล้ว ดังนั้นคู่กรณี (ฝ่ายถูก) สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ทันที แนะนำให้รอเจ้าหน้าที่ประกันเดินทางถึงที่เกิดเหตุก่อน แล้วค่อยดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนต่อไป
แต่ถ้าหากรถยนต์ของคุณไม่มีประกัน ประกันขาด หรือใด ๆ จำเป็นต้องคุยกับคู่กรณีให้รู้เรื่องว่า จะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่ ตอนไหน ถ้าจะให้ดีแนะนำให้เจรจาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดีที่สุด
2. ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาตัว
แม้ว่ารถยนต์ทุกคนจะมี พรบ.รถยนต์ ให้ความคุ้มครองในส่วนนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในบางครั้งการเรียกค่าสินไหมจากพรบ รถยนต์อาจไม่เพียงพอ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจจึงเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ ด้วยการช่วยจ่ายค่าเสียหายในส่วนที่เกินมา แต่จะจ่ายมากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประกันภัยที่คุณเลือกซื้อเอาไว้เป็นสำคัญ
3. ค่าทรัพย์สินที่เสียหาย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
นอกจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถของคู่กรณี ชีวิต และร่างกายแล้ว ยังสามารถเรียกร้อง ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถได้อีกด้วย ในส่วนนี้สามารถเรียกร้องได้ แต่การชดเชยค่าเสียหายของบริษัทประกันรถยนต์ มักพิจารณาจากค่าเสื่อมสภาพของทรัพย์สินเป็นหลัก
นอกจากนี้ยังจะต้องเป็นทรัพย์สินที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูกเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นจริง ๆ แต่ไม่ต้องกังวลหรือกลัวว่าเรื่องราวจะบานปลาย เพราะเจ้าหน้าที่ประกันภัยจะดำเนินการไกล่เกลี่ยให้คุณเอง
4. ค่าเสียหายอื่น ๆ เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่รถยนต์เสียหาย คู่กรณีได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คู่กรณีสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เช่นกัน โดยค่าเสียหายเพิ่มเติมมีดังนี้
- ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์
กรณีที่คู่กรณี (ฝ่ายถูก) ใช้รถยนต์ไปทำงานทุกวัน เมื่อพักรักษาตัวหายดีแล้ว แต่กลับไม่มีรถใช้งานได้ตามเดิม เนื่องจากต้องส่งซ่อมเป็นเวลานาน คุณในฐานะที่เป็นคนผิดจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
กรณีที่คุณถูกคู่กรณีเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ ทาง คปภ. ได้ กำหนดอัตราขั้นต่ำในการชดเชยค่าขาดประโยชน์ สำหรับรถยนต์ที่มีการทำประกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เอาไว้ดังนี้
- รถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราขั้นต่ำระหว่างซ่อมรถไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราขั้นต่ำระหว่างซ่อมรถไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราขั้นต่ำระหว่างซ่อมรถไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ผู้เสียหายจะต้องแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา เช่น สำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ใบเคลม สำเนาบัตรประชาชน สำเนาใบขับขี่ สำเนาทะเบียนรถยนต์ หลักฐานการเช่ารถ ฯลฯ รวมถึงต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์เรียกร้อง
- ค่ารถลากไปซ่อม
กรณีที่รถยนต์ของคู่กรณีเกิดความเสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถขับเคลื่อนไปที่อู่หรือศูนย์ได้ จำเป็นจะต้องใช้รถลากเพื่ออำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคุณจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบให้กับคู่กรณีด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือค่าเสียหายคร่าว ๆ ที่คู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกได้ ซึ่งประกันจะจ่ายให้ไม่เกินทุนประกันและจ่ายตามเงื่อนไขกรมธรรม์ของคุณ กรณีที่ไม่อยากปาดเหงื่อในภายหลัง จึงจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องพิจารณาการเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ให้ดี นอกจากจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมแล้ว วงเงินประกันต้องมากพอชนิดที่ว่ารองรับความเสียหายร้ายแรงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น ประกันภัยรถยนต์จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่นอกจากจะช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างค่าทำขวัญ หลีกเลี่ยงไม่ให้คุณเกิดเหตุการ์ขับรถชน ไม่มีเงินจ่ายแล้ว ยังช่วยลดแรงกระแทกจากการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีอีกด้วย ที่รู้ใจ ประกันออนไลน์ มีประกันรถยนต์ที่ช่วยคุณประหยัดถึง 30% ปรับแผนความคุ้มครองได้ตามใจ มีอู่และศูนย์ในเครือทั่วไทย ให้รู้ใจเป็นเพื่อนที่พร้อมเดินทางและปกป้องคุณได้ในทุกการเดินทาง
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)