
“ประกันรถมอเตอร์ไซค์” อีกหนึ่งความคุ้มครองที่หลายคนมองข้าม ทำให้น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ประกันมอเตอร์ไซค์ คุ้มครองอะไรบ้าง แต่ถ้าหากคุณเป็นสายรถบิ๊กไบค์ รถมอเตอร์ไซค์ที่มีราคาแพง มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่แต่งมอเตอร์ไซค์เพิ่มเติม แนะนำว่าควรทำความเข้าใจกันสักนิด เพราะจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้คุณ ซึ่งจะมีรายละเอียดน่าสนใจและเป็นประโยชน์แค่ไหน ตาม ‘รู้ใจ’ ไปทำความเข้าใจกันก่อนเลย
- ประกันรถมอเตอร์ไซค์ มีแบบไหนบ้าง?
- รถมอเตอร์ไซค์แบบไหนที่ทำประกันได้บ้าง?
- ประกันคุ้มครองอุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์มั้ย?
- แต่งรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มต้องแจ้งประกันมั้ย ?
ประกันรถมอเตอร์ไซค์ มีแบบไหนบ้าง?
ประกันภัยรถมอเตอร์ไซค์ มีรายละเอียดคล้ายกับประกันภัยรถยนต์ คือ มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ทั้งประกันภาคบังคับและประกันภาคสมัครใจ โดยทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดดังนี้
ประกันภาคบังคับ
ประกันภัยรถมอเตอร์ไซค์ภาคบังคับ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า พ.รบ. เป็นหนึ่งในความคุ้มครองที่รถมอเตอร์ไซค์ทุกคนต้องมี หากไม่มีหรือปล่อยให้ขาด หมดอายุ จะมีความผิดทางกฎหมายตามพรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยมีโทษความผิดดังนี้
- เจ้าของรถ ผู้เช่าซื้อรถ หรือเจ้าของรถที่นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ที่ไม่จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ. ต้องระวางโทษไม่เกิน 10,000 บาท
- ผู้ใดนำรถที่ไม่มีพรบ. มาใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ประกันรถมอเตอร์ไซค์ภาคสมัครใจ
เป็นประกันภัยรถมอเตอร์ไซค์ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของรถเป็นหลัก แต่ถ้าหากต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม เช่น ค่าซ่อมรถ รถสูญหาย ภัยพิบัติธรรมชาติ หรืออื่น ๆ ประกันภัยรถมอเตอร์ไซต์ภาคสมัครใจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า โดยแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ประกันรถมอเตอร์ไซค์ชั้น 1
หนึ่งในประเภทการประกันภัยภาคสมัครใจ ที่ได้รับความนิยมในแวดวงรถบิ๊กไบค์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ที่มีราคาแพง เนื่องจากให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด แถมยังชดเชยค่าเสียหายให้กับอุปกรณ์ราคาแพง และหายากได้อีกด้วย โดยคุ้มครองทั้งมีและไม่มีคู่กรณี และมีความคุ้มครองหลัก ๆ มีดังนี้
- คุ้มครองรถสูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม
- คุ้มครองค่าเสียหายของรถมอเตอร์ไซค์
- คุ้มครองชีวิตผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- คุ้มครองชีวิตคู่กรณี
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลคู่กรณี
- คุ้มครองทรัพย์สินคู่กรณี
- วงเงินประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา
2. ประกันรถมอเตอร์ไซค์ชั้น 2+
ประกันมอเตอร์ไซค์ชั้น 2+ เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากให้ความคุ้มครองไม่ต่างจากชั้น 1 สักเท่าไหร่ แต่มีความได้เปรียบในเรื่องของ “ค่าเบี้ยประกัน” ที่ถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของความคุ้มครองที่แตกต่างกัน หลัก ๆ จะเป็นในเรื่องของการเคลมที่จะต้องเกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แบบ “มีคู่กรณีเท่านั้น” โดยให้ความคุ้มครองหลัก ๆ ดังนี้
- คุ้มครองรถสูญหาย ไฟไหม้
- คุ้มครองค่าเสียหายรถจักรยานยนต์
- คุ้มครองชีวิตผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- วงเงินประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา
- คุ้มครองชีวิตคู่กรณี
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลคู่กรณี
- คุ้มครองทรัพย์สินคู่กรณี
3. ประกันรถมอเตอร์ไซค์ชั้น 2
ประกันมอเตอร์ไซค์ชั้น 2 เหมาะกับคนที่อยากประหยัดเบี้ยและขับขี่ดี เพราะประกันประเภทนี้ไม่คุ้มครองค่าซ่อมรถของเรา หากชนโดยที่เราเป็นฝ่ายผิดต้องจ่ายค่าซ่อมรถเอง และจะคุ้มครองเมื่อชนแบบมีคู่กรณีเท่านั้น โดยความคุ้มครองหลัก ๆ มีดังนี้
- คุ้มครองรถสูญหาย ไฟไหม้
- คุ้มครองชีวิตผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- วงเงินประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา
- คุ้มครองชีวิตคู่กรณี
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลคู่กรณี
- คุ้มครองทรัพย์สินคู่กรณี
4. ประกันรถมอเตอร์ไซค์ชั้น 3+
สำหรับคนที่สนใจจะทำประกันภัยรถมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่อยากได้ความคุ้มครองในเรื่องของรถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม รวมถึงต้องการประหยัดค่าเบี้ยให้ถูกลงกว่าเดิม ประกันภัยมอเตอร์ไซค์ชั้น 3+ ก็ตอบโจทย์ได้ดีเช่นเดียวกัน โดยให้ความคุ้มครองหลัก ๆ ดังนี้
- คุ้มครองค่าเสียหายรถจักรยานยนต์ แบบมีคู่กรณีเท่านั้น
- คุ้มครองชีวิตผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
- วงเงินประกันตัวผู้ขับขี่คดีอาญา
- คุ้มครองชีวิตคู่กรณี
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลคู่กรณี
- คุ้มครองทรัพย์สินคู่กรณี
5. ประกันรถมอเตอร์ไซค์ชั้น 3
หากคุณกำลังมองหาประกันมอเตอร์ไซค์ที่ราคาจับต้องได้ และถูกที่สุด ประกันภัยชั้น 3 ตรงต่อความต้องการมากที่สุด แต่ก็แลกมาด้วยความคุ้มครองที่น้อยที่สุดเช่นเดียวกัน โดยให้ความคุ้มครองหลัก ๆ ดังนี้
- คุ้มครองชีวิตคู่กรณี
- คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลคู่กรณี
- คุ้มครองทรัพย์สินคู่กรณี
จะเห็นได้ว่าประกันภัยรถมอเตอร์ไซค์แต่ละประเภท มีความคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลต่อค่าเบี้ยประกันโดยตรง หากต้องการซื้อความคุ้มครองให้กับรถคู่ใจ แนะนำให้ศึกษารายละเอียด และเงื่อนไขความคุ้มครองให้ดีก่อน ว่าจริง ๆ แล้วสามารถให้ความอุ่นใจได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อความคุ้มค่าสมราคาจ่าย
รถมอเตอร์ไซค์แบบไหนที่ทำประกันได้บ้าง?
รถจักรยานยนต์ทุกคันสามารถทำประกันรถมอเตอร์ไซค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถบิ๊กไบค์ รถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้งานทั่วไป รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถมอไซค์คลาสสิคก็สามารถทำประกันได้ โดยมีข้อกำหนดว่า รถมอเตอร์ไซค์ต้องมีอายุไม่เกิน 22 ปี และยังจะไม่คุ้มครองในกรณีที่นำรถไปใช้ผิดประเภท เช่น เป็นไรเดอร์รับ-ส่งคน/อาหาร
ประกันคุ้มครองอุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์มั้ย?
“รถแต่ง” หมายถึง รถที่ได้รับการดัดแปลง เปลี่ยน หรือปรับปรุงชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้แปลกไปจากรถตามมาตรฐานโรงงาน เช่น การปรับแต่งเครื่องยนต์ รูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงประสิทธิภาพของรถ
ซึ่งตามปกติบริษัทประกันจะ “ไม่คุ้มครอง” อุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากประกันของรถมอไซค์ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะรถตามมาตรฐานจากโรงงานเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองอุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์นอกเหนือจากที่โรงงานผลิต อย่างไรก็ตามมี ‘บางกรณี’ บางตำแหน่งที่แต่งมอไซค์แล้ว แต่ยังคงได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ซึ่งจะต้องแต่งแบบไหน ไปดูกันเลย
อุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์แบบไหนที่ประกันคุ้มครอง?
- กระบอกใส่ พรบ.รถ
ปัจจุบันจะเห็นว่ารถมอไซค์หลาย ๆ คัน มักตกแต่งกระบอกใส่ พรบรถ ในลักษณะหลอดเล็ก ๆ ใส ๆ หากคุณต้องการตกแต่งมอไซค์แบบนี้ ควรแปะในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจน หากขี่รถผ่านด่านแล้วตำรวจมองไม่เห็น อาจโดนเรียกตรวจสอบได้
- ป้ายทะเบียนรถ
ทะเบียนรถคือหนึ่งในเอกสารสำคัญของรถ ที่บ่งบอกว่ารถของคุณถูกกฎหมาย ตามที่กรมขนส่งทางบกอนุญาต ซึ่งตำแหน่งจะต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม รวมถึงมีไฟส่องสว่างที่ป้ายทะเบียนอย่างชัดเจน
- ล้อและยางรถ
หากต้องการตกแต่งหรือเปลี่ยนล้อ/ยางรถมอเตอร์ไซค์ จะต้องไม่ต่างไปจากขนาดที่เป็นมาตรฐานที่ออกมาจากโรงงาน หากมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าเดิมมากเกินไป จะถือว่าเป็นการแต่งที่ผิด
- กระจกมองข้าง
รถแต่งซิ่งส่วนใหญ่มักเปลี่ยนกระจกมองข้างให้มีขนาดเล็กลง เพื่อความเท่ ให้ความคูลสไตล์รถแต่ง รวมถึงความสะดวกสบายในการขับขี่ลัดเลาะไปมาบนถนนในเมืองที่แออัด แต่การแต่งแบบนั้นถือเป็นการแต่งที่ผิด
โดยการแต่งรถที่ถูก คือ การเปลี่ยนเป็นกระจกที่มองข้างได้ชัดเจน และมีระยะการมองเห็นที่กว้าง ไกล ไม่ใช่ปรับขนาดให้มีเล็กลง เนื่องจากส่งผลต่อทัศนวิสัยการขับขี่
- ไฟส่องสว่าง
ไฟส่องสว่างในที่นี้ หมายถึงไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟเบรก และไฟส่องป้ายทะเบียนรถ ซึ่งจะต้องติดทุกดวง หากเปลี่ยนไปใช้ไฟแบบ LED จะต้องไม่รบกวนคนอื่น ๆ หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ท่อไอเสีย
รถแต่งมอไซค์ซิ่งหลายคันมักแต่งท่อไอเสีย ให้มีเสียงที่ดังกว่าปกติ หากดังเกินกว่า 95 เดซิเบล จะถือว่าผิดกฎหมาย
แต่งรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มต้องแจ้งประกันมั้ย ?
กรณีที่มีการแต่งรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มเติม ทั้งเปลี่ยน ปรับ ดัดแปลงส่วนใด ๆ ก็ตาม ควรแจ้งบริษัทประกันว่ามีอุปกรณ์แต่งมอเตอร์ไซค์ใด ๆ ถูกแต่งเพิ่มเข้ามาบ้าง ทั้งก่อนและหลังทำประกัน เพื่อให้บริษัทออกสลักหลังให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมกับอุปกรณ์ตกแต่งนั้น ๆ แน่นอนว่าคุณจะต้องเสียเบี้ยประกันเพิ่ม “ตามมูลค่าของตกแต่ง”
ในกรณีที่เปลี่ยนสีรถมอไซค์ รวมถึงมีการดัดแปลงโครงสร้างของตัวรถจนแตกต่างไปจากเดิม นอกจากจะต้องแจ้งบริษัทประกันแล้ว ยังต้องแจ้งกรมขนส่งทางบกด้วย ซึ่งในส่วนนี้ทางบริษัทประกันจะเข้ามาประเมิน และตรวจสอบความคุ้มครอง รวมถึงเก็บข้อมูลสภาพรถ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวถัง สี เพื่อให้ง่ายต่อการเคลมเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทเป็นสำคัญ แนะนำให้สอบถามหรือพูดคุยถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีก่อน เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของทั้ง 2 ฝ่าย
สรุปได้ว่าการตกแต่งมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะตกแต่งเพื่อความสวยงาม ความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย หรือใด ๆ ก็ตาม หากตกแต่งตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมทาง หรือคนอื่น ๆ “ประกันไม่ขาด” แต่ถ้าหากต้องการความคุ้มครองในส่วนของของตกแต่งที่ชิ้น ที่นอกเหนือจากอุปกรณ์เดิมที่ติดตั้งมาจากโรงงาน อาจต้องพูดคุยกับทางบริษัทประกัน เพื่อทำการประเมินและตรวจสอบสภาพรถ และจ่ายค่าเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ประกันไม่ขาด | กรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลให้ความคุ้มครองอยู่ |
สลักหลัง | เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทประกันภัยออกให้ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ความคุ้มครอง |
ผู้โดยสาร | ผู้ที่เดินทางไปกับยานพาหนะนั้น ๆ |