สำหรับคนที่มีรถส่วนใหญ่แล้วจะรู้ว่าทุกครั้งที่มีการต่อภาษีทะเบียนรถประจำปีมักจะมีการจ่ายค่า พรบ.รถยนต์ควบคู่กันไปด้วยทุกครั้ง จึงอาจเป็นคำถามในใจของใครหลาย ๆ คนว่าระหว่าง พรบ.รถยนต์ ประกันรถยนต์ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทั้ง 3 แบบนี้ มันมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ยุคสมัยเปลี่ยนไปพร้อมกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับบางกิจกรรม กีฬาเอ็กซ์ตรีมหรืองานอดิเรก แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาไปจากเมื่อก่อน ที่เห็นได้ชัดที่สุดเห็นจะเป็นเทคโนโลยียานยนต์ ที่กำลังจะเปลี่ยนจากรถยนต์ดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากการเลือกซื้อรถสักคันที่ต้องคำนึงถึงการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเราแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการใช้รถ ใช้ถนน และคนรอบข้าง รวมถึงข้อกฎหมายที่เราต้องเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย
นั่นก็คือ เรื่องของการทำประกันรถยนต์ พรบ.รถยนต์ภาคสมัครใจ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ทั้ง 3 อย่างนี้ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ? มาลองอ่านบทความนี้กัน
พรบ.รถยนต์ คืออะไร
พรบ.รถยนต์ เป็นการประกันภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้ยานพาหนะที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกทุกประเภทต้องมีไว้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ขับขี่ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้รับสิทธิคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ซึ่งวงเงินคุ้มครองจากพรบ.รถยนต์นั้น มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนตามกฎหมาย โดยแบ่งการจ่ายเงินออกเป็น 2 รูปแบบ
- ค่าเสียหายเบื้องต้น ได้รับโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด
- ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร 35,000 บาท
- ค่าเสียหายส่วนเกิน กรณีพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
- ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน (กรณีที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล)
- จำนวนเงินรวมทั้งหมดที่จ่าย ไม่เกิน 504,000 บาท
หากเกิดอุบัติเหตุแล้วพิสูจน์มาว่าเราเป็นฝ่ายผิด จะได้รับเงินคุ้มครองค่าใช้จ่ายเบื้องต้นหรือตามข้อ 1 เท่านั้น และไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งในกรณีที่เป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด
สรุปก็คือ พรบ.รถยนต์ คุ้มครองชีวิต ร่างกายของผู้เอาประกันภัยและคู่กรณี แต่จะไม่คุ้มครองทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ เป็นต้น
ประกันรถยนต์ คืออะไร ?
ประกันภัยรถยนต์ คือ การที่ผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหากเกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้ประกันเอาไว้ ซึ่งความเสียหายนั้นสามารถประเมินมูลค่าหรือกำหนดเป็นวงเงินได้ โดยผู้เอาประกันภัยต้องชำระเบี้ยประกันภัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
1.การประกันภัยภาคบังคับ
ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือ พรบ. เป็นภาคที่กฎหมายบังคับ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น
2.การประกันภัยภาคสมัครใจ
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจหรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เจ้าของรถสมัครใจอยากจะซื้อประกันรถยนต์เอาไว้ หากเกิดอุบัติเหตุอย่างรถชน บริษัทประกันภัยที่เราทำเอาไว้ จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถ ซึ่งแต่ละแผนจะมีผลประโยชน์ไม่เท่ากัน การประกันภัยรถยนต์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
- การประกันภัยแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ – โดยจะคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดจากการยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในการให้ผู้อื่นขับขี่รถยนต์ของตนเอง
- การประกันภัยแบบที่ระบุชื่อผู้ขับขี่ – โดยจะคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ที่เกิดในขณะที่ผู้ขับขี่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เป็นผู้ขับขี่เท่านั้น หากไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุไว้เป็นผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันต้องเข้าร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายในส่วนแรกด้วย สามารถแบ่งความคุ้มครองได้ดังนี้
- ความคุ้มครองรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกและผู้โดยสารในรถ
- ความคุ้มครองรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
- ความคุ้มครองรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์
- ความคุ้มครองรับผิดต่อการสูญหายและไฟไหม้ของรถยนต์
และสามารถจำแนกประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ออกได้เป็น
- ประกันรถยนต์ประเภท 1 – คุ้มครองครบทั้ง 4 ข้อข้างต้น
- ประกันรถยนต์ประเภท 2 – คุ้มครองตามข้อ 1 , 2 และ 4
- ประกันรถยนต์ประเภท 3 – คุ้มครองตามข้อ 1 และ 2
หรือเรียกแบบที่เราเคยได้ยินคือ ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประกันชั้น 2 และประกันชั้น 3 สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ มุ่งเน้นการประกันภัยต่อรถยนต์ ชีวิตของผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่ 3 หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ แล้วเราทำประกันรถยนต์ประเภทที่ 1 เอาไว้ ก็สบายใจได้ว่า บริษัทประกันภัยจะมาดูแลค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าซ่อมรถทั้งของเราและคู่กรณี (กรณีเราเป็นฝ่ายผิด) รวมถึงค่ารักษาพยาบาล แต่หากเลือกประเภท 2 หรือ 3 ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไข ผู้เอาประกันภัยต้องดูแลในส่วนนั้นเอง ผู้เอาประกันภัยจึงต้องตรวจสอบเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์ก่อนการเลือกซื้อประกันรถยนต์
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล คืออะไร ?
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลคือ การประกันภัยอุบัติเหตุที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และหากการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ เสียอวัยวะ ตลอดไปจนถึงเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินก้อนทดแทนหากมีการสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
ซึ่งประกันอุบัติเหตุจะมีทั้งหมด 3 แบบ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และประกันอุบัติเหตุนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผลประโยชน์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับแผนประกันอุบัติเหตุที่ผู้เอาประกันภัย เป็นคนเลือก ความคุ้มครองหลัก ๆ ได้แก่
- คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
- การสูญเสียการรับฟัง การพูดออกเสียง นิ้วมือและนิ้วเท้า
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
- ค่าชดเชยรายวันหากต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
สรุป ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สิน หรือค่ารักษาพยาบาลของบุคคลที่ 3
ความแตกต่างของ พรบ.รถยนต์
ประกันรถยนต์ และ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
พรบ.รถยนต์ | ประกันรถยนต์ | ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล | |
---|---|---|---|
ความเสียหายต่อรถยนต์ | ไม่คุ้มครอง | คุ้มครอง | ไม่คุ้มครอง |
ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร | |||
• เสียชีวิต/ทุพพลภาพ | คุ้มครองสูงสุด 5 แสนบาท/ครั้ง | คุ้มครองสูงสุด 10 ล้านบาท / ครั้ง | ชดเชยเงินก้อน (ตามแผนที่เลือก) |
• ค่ารักษาพยาบาล | คุ้มครองสูงสุด 8 หมื่นบาท/คน | คุ้มครองสูงสุด 1 แสนบาท / คน | คุ้มครอง (ตามแผนที่เลือก) |
• ค่าประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญา | ไม่คุ้มครอง | คุ้มครองสูงสุด 3 แสนบาท หรือตามที่ระบุไว้ในหน้ากรมธรรม์ | ไม่คุ้มครอง |
ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก | |||
• บุคคล | คุ้มครองสูงสุด 5 แสนบาท / คน | คุ้มครองสูงสุด 5 แสนบาท / คน | ไม่คุ้มครอง |
• ทรัพย์สิน | ไม่คุ้มครอง | คุ้มครองสูงสุด 2.5 ล้านบาท / ครั้ง | ไม่คุ้มครอง |
บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม.(ฟรี) | ไม่คุ้มครอง | คุ้มครอง | ไม่คุ้มครอง |
สรุป
พรบ.รถยนต์จะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้ขับขี่แต่ไม่คุ้มครองตัวรถยนต์ หากไม่ได้ทำประกันรถยนต์ไว้ค่าซ่อมรถทั้งหมดต้องจ่ายเองทั้งรถของคุณและรถคู่กรณี ถ้าทำพรบ. แต่ไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากที่พรบ.คุ้มครอง ต้องจ่ายเองเช่นกัน
และทั้ง 3 แบบนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้ร่วมกันได้ หากเกิดรถชนประกันภัยรถยนต์จะทำงานก่อนเป็นอันดับแรก และหากมีการบาดเจ็บทางร่างกายผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นพรบ.รถยนต์พร้อมกับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลร่วมด้วยได้ ทั้งหมดเพื่อให้จ่ายส่วนเกินเพิ่มน้อยที่สุด หรือถ้ามีประกันที่มีวงเงินคุ้มครองมากพอ ก็ไม่ต้องจ่ายส่วนเกินใด ๆ เพิ่มเลย
เมื่อเราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะรุนแรงแค่ไหนการทำพรบ.รถยนต์ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะลดความเสี่ยงในการเสียทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล อีกทั้งประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ยังสามารถคุ้มครองอุบัติเหตุอื่น ๆ นอกจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ได้อีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)