รู้ไหมว่า พรบ. รถยนต์ที่เราต่ออยู่ทุกปีนั้นสามารถเคลมอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนขับขี่รถยนต์จะต้องทำความเข้าใจ เพราะประกันภัยพรบ. หรือเรียกเต็มๆ ว่า การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) เป็นการประกันภัยที่รถยนต์ทุกคันต้องทำประกันภัยประเภทนี้ เนื่องจากถูกบังคับโดยกฎหมาย โดยหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็จะได้ใช้สิทธิและเบิกค่าใช้จ่ายที่พึงได้ตามความคุ้มครอง
เคลมอะไรได้บ้าง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่คุณ สามารถเคลมได้ ดังนี้
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จะรับผิดชอบต่อความสูญเสีย ของชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ของผู้ประสบภัยจากรถ
ใครบ้างที่ พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครอง
ผู้ประสบภัยจากรถ หมายถึง ผู้ซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถนั้นและหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย ได้แก่ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า ทายาทตามกฎหมายเป็นต้น
ความเสียหายของกรมธรรม์ พรบ. มีความคุ้มครอง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ค่าเสียหายเบื้องต้น
- ค่าเสียหายส่วนเกินจากเบื้องต้น หรือ ค่าสินไหมทดแทน
ความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัย จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหายเบื้องต้นที่สามารถเคลมได้ ได้แก่
กรณีบาดเจ็บ
จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ
กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(ก) ตาบอด
(ข) หูหนวก
(ค) เป็นใบ้หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
(ง) สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
(จ) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว
(ฉ) เสียอวัยวะอื่นใด
(ช) จิตพิการอย่างติดตัว
(ซ) ทุพพลภาพอย่างถาวร
กรณีเสียชีวิต
กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อชีวิต บริษัทจะจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยตามจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน หากเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท รวมไม่เกิน 65,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทน
ค่าเสียหายส่วนเกิน เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้หลังจากที่มีการพิสูจน์ความผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทประกันภัยที่เป็นฝ่ายผิดแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัยเมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว ซึ่งแบ่งเป็นกรณีดังนี้
กรณีบาดเจ็บ
กรณีที่เกิดการบาดเจ็บ บริษัทจะจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัยสามารถเรียกร้องได้ตามมูลละเมิด ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ ไม่เกิน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน
กรณี สูญเสียอวัยวะหรือทุพลลภาพ
ในกรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย ในกรณีใดกรณีหนึ่ง บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินคุ้มครอง ดังนี้
(1) กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(2) กรณีสูญเสียมือสองข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนสองข้าง หรือเท้าสองข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาสองข้างหรือสายตาสองข้าง(ตาบอด) บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(3) กรณีสูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ แขนหนึ่งข้าง เท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า ขาหนึ่งข้าง สายตาหนึ่งข้าง(ตาบอด) ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(4) กรณีสูญเสียมือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่งข้าง หรือสายตาหนึ่งข้าง(ตาบอด) กรณีใดกรณีหนึ่ง บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน
(5) กรณีหูหนวก เป็นใบ้หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใด บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาทต่อหนึ่งคน
(6) กรณีสูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน
กรณีเสียชีวิต
ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน
กรณีเป็นฝ่ายถูกและนอนโรงพยาบาล
กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน
ขั้นตอนการเคลมค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น และต้องการเคลมค่าเสียหาย สามารถทำได้วิธี โดยแบ่งออกตามประเภทความเสียหายดังต่อไปนี้
1.การเคลมค่าเสียหายกรณีบาดเจ็บ
- การเคลมค่าเสียหายจากการบาดเจ็บจะต้องนำเอกสารไปยื่นกับทางบริษัท เพื่อขอเคลม โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นดังนี้ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย แล้วแต่กรณี
- ใบเสร็จจากโรงพยาบาลหรือหลักฐานการแจ้งหนี้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในกรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากต้องยื่นหลักฐานการรักษาพยาบาลตามข้างต้นแล้ว ให้ยื่นหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถเพิ่มเติมด้วย
- ใบรับรองแพทย์ หรือความเห็นแพทย์ บันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
2.การเคลมค่าเสียหายจากการเสียชีวิต
การเคลมค่าเสียหายจากการเสียชีวิต จะต้องนำเอกสารดังต่อไปนี้ ไปยื่นกับทางบริษัท ซึ่งได้แก่
- สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตายเพราะการประสบภัยจากรถ
- สำเนาใบมรณบัตรหรือหลักฐานอื่นใด ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้น เป็นผู้ประสบภัย
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว อุ่นใจไว้ก่อน ด้วยการทำประกันภาคบังคับ ตาม พรบ. กับรู้ใจ และที่สำคัญ ขับรถอย่างมีสติและไม่ประมาทช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสีย เพราะถึงแม้จะมี พ.ร.บ ให้ความคุ้มครอง แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นอยู่ดี ฉะนั้นปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า อีกหนึ่งทางจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในทุกการเดินทางด้วยการเลือกความคุ้มครองที่สูงขึ้นโดยการซื้อประกันภัยชั้น 1 จากรู้ใจ
Roojai.com ประกันภัยรถยนต์ออนไลน์ มาพร้อมกับบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน สำหรับประกันชั้น 1 แม้เกิดเรื่องไม่คาดฝัน ก็มั่นใจได้ว่า Roojai.com พร้อมช่วยเหลือทุกเมื่อที่คุณต้องการ นอกจากความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้ง พรบ.และ ประกันชั้น 1 ยังมีโปรโมชั่นเสริม ไม่ว่าจะเป็นซ่อมรถฉุกเฉิน รถยกเนื่องจากรถเสีย ลืมกุญแจ น้ำมันหมดกลางทาง หรือแม้แต่กรณีที่รถสตาร์ทไม่ติด อุ่นใจทุกเมื่อที่ www.roojai.com