Roojai

รถไฟฟ้า EV ทำประกันรถยนต์ทั่วไปได้มั้ย? ต้องทำพ.ร.บ. หรือไม่?

ความคุ้มครองเฉพาะสำหรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญยังไง | รู้ใจ

ความใหม่ของถนนเมืองไทยกับรถที่ไม่ใช้น้ำมันอีกต่อไป ประหยัดกว่า มลพิษน้อยกว่า ทว่าถ้าอยากเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าสักคัน “ประกันภัยรถยนต์“ คือหนึ่งในเรื่องที่ควรทำความเข้าใจให้ดีกับกฎหมายเมืองไทย เพื่อจะได้เลือกซื้อได้อย่างตอบโจทย์ พร้อมทำความเข้าใจว่ารถรถไฟฟ้า EV จำเป็นต้องทำ พ.ร.บ. ด้วยหรือไม่ ทั้งหมดที่คุณต้องรู้เรื่องประกันรถไฟฟ้ารวมไว้ในบทความนี้แล้ว

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

ประกันรถไฟฟ้าต่างจากประกันภัยรถยนต์ทั่วไปยังไง?

 “​ประกันรถไฟฟ้า” คือ การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสียหาย ความสูญหาย และอุบัติเหตุจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์แต่ละแห่ง นอกจากนี้ประกันรถยนต์ไฟฟ้ายังมาพร้อมกับ ‘บริการและความคุ้มครอง’ ที่เหมาะสำหรับรถไฟฟ้า EV มากกว่าประกันรถยนต์ทั่วไปอีกด้วย

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะมีอู่และศูนย์บริการในเครือข่ายที่สามารถซ่อมแซมรถไฟฟ้าได้เท่านั้น แต่ยังมีบริการฉุกเฉินสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมยางรถยนต์โดยช่างเฉพาะทาง การเติมไฟฟ้า ไปจนถึงการให้ความคุ้มครอง ‘แบตเตอรี่รถไฟฟ้า’ หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

การทำพ.ร.บ.รถยนต์ไฟฟ้า | รู้ใจ

ความคุ้มครองของประกันรถไฟฟ้า มีอะไรบ้าง?

อยากให้รถไฟฟ้าคันโปรดได้รับความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ ต้องรู้ก่อนว่าประกันรถยนต์ประเภทนี้ดียังไง? โดยพื้นฐานแล้วประกันรถ EV จะให้ความคุ้มครอง ดังนี้

  • ความคุ้มครองต่อผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และคู่กรณี
  • ความคุ้มครองอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณี
  • ความคุ้มครองอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี (กรณีประกันภัยรถยนต์ชั้น 1)
  • ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือรถหาย/ถูกโจรกรรม
  • ความคุ้มครองในการซ่อมรถไฟฟ้า EV ที่ศูนย์ให้บริการ
  • ความคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
  • ความคุ้มครองเครื่องชาร์จไฟฟ้าที่อยู่อาศัย รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งที่บ้าน
  • การทําประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จะต้องระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น โดยสามารถแจ้งชื่อได้สูงสุด 5 คน แต่ระบุลงในตารางกรมธรรม์สูงสุดไม่เกิน 2 คน ส่วนที่เหลือให้นำไว้ในเอกสารแนบท้าย

รถไฟฟ้า EV ทำประกันชั้นไหนได้บ้าง?

หลายคนสงสัยว่ารถไฟฟ้าสามารถทําประกันรถยนต์ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ทำประกันได้” โดยบริษัทประกันจะให้ทำประกันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนใช้รถ EV โดยเฉพาะ มีความคุ้มครองแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจของรถไฟฟ้าที่หากเสียหายขึ้นมาก็อาจไม่สามารถใช้งานรถได้ รวมถึงความคุ้มครองเพิ่มเติมของที่ชาร์จติดผนังที่บ้านอีกด้วย แบบนี้หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ระหว่างการชาร์จ ประกันก็คุ้มครองรถ EV ด้วย

ทำไมประกันรถไฟฟ้าแพงกว่าประกันรถยนต์ทั่วไป?

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังตั้งคำถามว่า ทำไมประกันรถไฟฟ้าถึงมีราคาสูงกว่า รู้ใจได้ลิสต์เหตุผลหลัก ๆ มาให้เรียบร้อยแล้ว ตามไปพิจารณาก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันเลย

1. ประกันรถไฟฟ้าแพงเพราะคุ้มครองแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ถือเป็น ‘หัวใจสำคัญ’ ของรถยนต์ไฟฟ้า มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่ใช้หมุนเวียนในทุกระบบ นอกจากนี้ยังถูกเชื่อมต่อเข้ากับส่วนประกอบสำคัญมากมาย ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ส่วนใหญ่ช่างหรือศูนย์บริการจะแนะนำให้เปลี่ยนแบตเตอรี่ยกชุด

โดยราคาเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบยกชุด ขึ้นอยู่กับ ‘ความจุ’ ของแบต แต่ส่วนใหญ่จะมีราคาครึ่งหนึ่งของราคาขายของรถคันนั้น ๆ จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทประกันภัยรถยนต์ จำเป็นต้องกำหนดค่าเบี้ยประกันรถ EV ไว้สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปประมาณ 20-30%

การเลือกประกันรถยนต์สำหรับรถไฟฟ้า EV | รู้ใจ

2. ประกันรถไฟฟ้าแพงเพราะคนยังใช้รถไฟฟ้า EV ไม่มาก

ตามปกติแล้วบริษัทประกันภัยรถยนต์จะคำนวณต้นทุนค่าเบี้ยประกัน จาก ‘สถิติ’ การเคลมกรณีต่าง ๆ ที่ผ่าน ๆ มา แต่ด้วยความที่คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อยมาก ๆ การอ้างอิงสถิติต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก รวมไปถึงข้อมูลด้านความเสี่ยงจากตัวรถด้วย บริษัทฯ ไม่มีกรณีศึกษาที่มากพอ เลยต้องใช้การเทียบเคียงสถิติระหว่างรถ EV และรถยนต์ทั่วไป

3. ประกันรถไฟฟ้าแพงเพราะมีศูนย์บริการน้อย

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่า เป็นเพราะว่ารถยนต์ประเภทนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบการทำงาน โครงสร้างของรถที่แตกต่างกันไป เมื่อรถเกิดความผิดปกติในเรื่องของระบบต่าง ๆ จำเป็นจะต้องนำรถเข้าซ่อมที่ “ศูนย์บริการ” เท่านั้น เนื่องจากต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในระบบจริง ๆ คอยดูแล

แต่ด้วยในปัจจุบันประเทศไทยยังมีศูนย์บริการ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ของบริษัทผู้ผลิตก็ดี หรือศูนย์บริการภายนอกก็ด้วย ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอู่ซ่อมรถหรือศูนย์บริการอื่น ๆ ทั่วไป ส่งผลให้ “ค่าใช้จ่าย” เมื่อนำรถเข้าศูนย์บริการแต่ละครั้งมีราคาจ่ายค่อนข้างสูง ส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าที่หาได้ค่อนข้างยาก บางครั้งอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีบริษัทที่รับทำประกันรถไฟฟ้าค่อนข้างจำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อค่าเบี้ยประกันทั้งสิ้น

เลือกทำประกันรถยนต์ไฟฟ้ากับบริษัทไหนดี?

การทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ยุ่งยากมากเท่าที่คิด และเบี้ยประกันก็ไม่ได้แพงจนหาความคุ้มค่าไม่ได้ แล้วจะเลือกบริษัทประกันที่จะมาดูแลรถไฟฟ้าคู่ใจยังไง รู้ใจแนะนำ 5 ข้อนี้เลย

  1. เช็คความคุ้มครอง – เช็คให้มั่นใจว่าประกันครอบคลุมอะไหล่และแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย รวมไปถึงความคุ้มครองเมื่อน้ำท่วมด้วย หากคุณอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง
  2. เช็คเบี้ยประกันและส่วนลด – เปรียบเทียบความคุ้มครองและเบี้ยประกันจากหลาย ๆ บริษัท เพื่อให้ได้กรมธรรม์ที่คุ้มค่า รวมถึงสิทธิ์ส่วนลดต่าง ๆ
  3. ทุนประกัน – เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตรวจสอบว่ากรมธรรม์มีทุนประกันที่สูงมากพอ เช่น เลือกให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตรถไฟฟ้า EV
  4. ศูนย์ซ่อมบำรุง – พิจารณาว่าบริษัทประกันมีเครือข่ายศูนย์ซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าเพียงพอ เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวก
  5. รีวิวลูกค้าจริง – ตรวจสอบว่าบริษัทประกันมีระบบการจัดการและการติดต่อประสานงานที่ดี เพื่อเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะได้รับบริการที่ดี ซึ่งสามารถดูได้จากประสบการณ์ของคนที่เคยเคลมประกันกับบริษัทนั้น ๆ

รถไฟฟ้าต้องทำ พ.ร.บ. หรือไม่?

แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะขับเคลื่อนด้วย ‘ระบบไฟฟ้า’ แต่อย่าลืมว่ารถทุกคันเมื่อนำมาวิ่งบนถนนต้องมี พ.ร.บ. (ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ) ดังนั้นรถไฟฟ้าต้องทำและต่อ พ.ร.บ. รถยนต์อยู่เสมอ โดยพ.ร.บ.เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครอง ‘เฉพาะความเสียหายต่อการบาดเจ็บและชีวิตของบุคคล’ โดยมีรายละเอียดความคุ้มครองดังนี้

ค่าเสียหายเบื้องต้น ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูก-ผิด

“ค่าเสียหายเบื้องต้น” ผู้ประสบเหตุทุกคนจะได้รับทันที โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดก่อน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • กรณีบาดเจ็บ: ได้รับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร: จะได้รับค่าชดเชยเบื้องต้น 35,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิตหลังเข้ารับการรักษา: จะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพอีก 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

ค่าสินไหมทดแทนหลังจากพิสูจน์ถูก-ผิด

โดยค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ “ผู้ที่เป็นฝ่ายถูก” จะได้รับ หลังจากที่มีการพิสูจน์ถูก-ผิดเรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ: จะได้รับค่าสินไหมทดแทน เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง: จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท
  • กรณีเสียชีวิต: จะได้รับค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท
  • กรณีเป็นผู้ป่วยใน: จะได้รับค่าชดเชย 200 บาทต่อวัน จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 วัน

การเลือกซื้อรถไฟฟ้าไว้สักคัน นอกจากจะเลือกรุ่นรถยนต์ที่ชอบ สไตล์ที่ใช่แล้ว การหาข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เช่น การทําประกันรถยนต์ ทั้งภาคสมัครใจและประกันภัยภาคบังคับ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ไม่สามารถต่อภาษีรถไฟฟ้า EV ได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง เพราะฉะนั้นแนะนำให้ทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

เทียบเคียง เปรียบเทียบ
พ.ร.บ. ย่อมาจากคำว่า ‘พระราชบัญญัติ’ หมายถึง กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ โดยผ่านความเห็นชอบตามกระบวนการนิติบัญญัติ
กรมธรรม์ เป็นเอกสารระหว่างบริษัทประกันภัยหรือผู้ให้บริการประกันภัย ที่มีให้กับบุคคลหรือธุรกิจ