ในยุคที่การท่องเที่ยวแบบ “แคมป์ปิ้ง” เป็นเทรนด์มาแรง ขับรถไปแคมป์เที่ยวป่าแน่นอนว่าโอกาสเจอสัตว์ป่าต้องมี แล้วถ้ารถคุณเกิดเสียหายจากสัตว์ป่าจะทำยังไง การเคลมประกันรถยนต์กรณีถูกสัตว์ป่าทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายทำได้มั้ย แม้ว่าดูเป็น “เรื่องไกลตัว” มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่ชื่นชอบการเที่ยวป่า เที่ยวเขา ถ้าอย่างนั้นตามรู้ใจไปดูกันเลยว่า เมื่อโดนสัตว์ป่าทำลายรถ แบบนี้จะสามารถแจ้งเคลมประกันรถยนต์และเคลมพรบ.ได้หรือไม่
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- สัตว์ป่าสงวน และ สัตว์ป่าคุ้มครอง คืออะไร?
- หากขับรถชนช้าง ถือว่ามีความผิดหรือเปล่า?
- ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมประกันรถยนต์ได้มั้ย?
- ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมพรบ.ได้มั้ย?
- เมื่อเจอช้างหรือสัตว์ป่าบนถนน ควรทำยังไง?
สัตว์ป่าสงวน และ สัตว์ป่าคุ้มครอง คืออะไร?
ก่อนไปทำความเข้าใจประเด็นการเคลมประกันรถยนต์จากการถูกสัตว์ป่าทำให้รถเสียหาย เรามาทำความรู้จักสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองกันก่อนดีกว่า ว่าทั้ง 2 อย่างนี้เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง
สัตว์ป่าสงวน คืออะไร?
หมายถึง “สัตว์ป่าหายาก” สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือบางประเภทก็สูญพันธุ์ไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรอนุรักษ์และสงวนไว้ เพื่อให้ในประเทศไทยยังคงมีเหลืออยู่ ซึ่งปัจจุบันสัตว์สงวนในประเทศไทย มีทั้งหมด 20 ชนิด ดังนี้
สัตว์ป่าสงวน ประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม
1. แรดชวา (Javan rhinoceros) | 8. กวางผา (Goral) |
2. กระซู่ (Didermocerus Samatraensis) | 9. แมวลายหินอ่อน (Marbled cat) |
3. ควายป่า (Wild Water Buffalo) | 10. เก้งหม้อ (Fea’s muntjac) |
4. กูปรี หรือ โคไพร (Kouprey) | 11. สมเสร็จ (Tapir) |
5. ละอง หรือ ละมั่ง (Eld’s Deer) | 12. พะยูน หรือ หมูน้ำ (Dugong) |
6. สมัน (Schomburgk’s deer) | 13. วาฬบรูด้า (Bryde’s whale) |
7. เลียงผา (Serow) | 14. วาฬโอมูระ (Omura’s whale) |
สัตว์ป่าสงวน ประเภทสัตว์เลื้อยคลาน
15. เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle)
สัตว์ป่าสงวน ประเภทปลา
16. ปลาฉลามวาฬ (Whale shark)
สัตว์ป่าสงวน ประเภทนก
17. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-eyed River Martin) | 19. นกกระเรียนไทย (Sarus crane) |
18. นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s pitta) | 20. นกชนหิน (Rhinoplax vigil) |
สัตว์ป่าคุ้มครอง คืออะไร?
หมายถึง “สัตว์ป่า” ที่กฎหมายกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าบางชนิดสูญพันธุ์ หลัก ๆ มีทั้งหมด 7 ประเภท ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 201 ชนิด
- นก จำนวน 952 ชนิด
- สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 91 ชนิด
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 12 ชนิด
- ปลา จำนวน 14 ชนิด
- แมลง จำนวน 13 ชนิด
- สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ จำนวน 12 ชนิด
ซึ่งชนิดที่มีความเสี่ยงที่จะถูกรถชนหรือเข้ามาทำลายรถ คือ ช้างป่า กวางป่า ลิง เป็นต้น
หากขับรถชนช้างหรือสัตว์ป่า ถือว่ามีความผิดหรือเปล่า?
หากขับรถชนช้างป่า ผู้ขับขี่จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 12 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ฐานกระทำอันตรายด้วยประการใด ๆ โดยการขับขี่รถชนช้างป่าจนได้รับอันตราย บาดเจ็บ หรือตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของช้างที่บาดเจ็บหรือตาย เชือกละหลายแสนบาท ตามมาตรา 87 และมาตรา 88 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ พ.ศ.2562 ไม่ว่าจะตั้งใจหรือประมาทก็ตาม
และในกรณีที่ชนช้างป่าแล้วหนี นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้อธิบายว่า “หากชนช้างป่าแล้วหนี จะมีโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกกระทงหนึ่งด้วย” (ที่มา: thaipbs.or.th)
ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมประกันรถยนต์ได้มั้ย?
หากคุณมีแพลนไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือชอบเที่ยวป่าที่ไหนก็ตาม และเกิดความกังวลกลัวว่าจะเจอช้าง หรือสัตว์ป่าอื่น ๆ มาทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย (อย่างที่เคยเป็นข่าว) ไม่ต้องกังวลอะไรเลย เพราะถ้าหากรถของคุณมีประกันสามารถแจ้งเคลมประกันได้หากคุณมีประกันชั้น 1 เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์ป่าจะไม่ถูกนับเป็นความเสียหายที่มีคู่กรณี เนื่องจากช้าง ลิง หรืออื่น ๆ เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หมายความว่าจะเป็นการเคลมประกัน ไม่มีคู่กรณี ซึ่งประกันชั้นอื่น ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง
ถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ เคลมพรบ.ได้มั้ย?
หากรถถูกช้างหรือสัตว์ป่าทำลายรถ จนเราบาดเจ็บ แบบนี้สามารถแจ้งเคลมประกันจากพรบ. ได้ โดยพรบ.จะชดเชยค่าเสียหายจากอาการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเท่านั้น จะไม่ได้คุ้มครองในส่วนของค่าซ่อมรถ โดยคุณจะได้รับความคุ้มครองจากพรบ.รถยนต์ทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถด้วยเช่นกัน ในส่วนของความคุ้มครองและขั้นตอนการเคลมประกันจากพรบ.สามารถอ่านโดยคลิกลิ้งก์ที่ตัวหนังสือสีส้มได้เลย
เมื่อเจอช้างหรือสัตว์ป่าบนถนน ควรทำยังไง?
หากไม่อยากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะกรณีขับรถชนสัตว์ป่า ทั้งสัตว์ป่าสงวน, สัตว์ป่าคุ้มครอง เมื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือไปอุทยานแห่งชาติ รู้ใจมีวิธีปฏิบัติเมื่อต้องเจอกับสัตว์ต่าง ๆ จะมีอะไรบ้างตามไปดูกันเลย
- ให้สังเกต “ป้ายเตือนให้ระวัง” ให้ดี เมื่อสังเกตเห็นก็ควรลดความเร็ว และขับขี่ด้วยความระมัดระวัง
- หากไม่จำเป็นแนะนำให้หลีกเลี่ยงเดินทางในเส้นทางที่มีสัตว์ป่าลงมาใช้ถนนเป็นประจำ ซึ่งปกติแล้วจะเป็นช่วงเวลาดึก ๆ หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป
- ห้ามใช้แตรรถหรือตะโกนเสียงดังเพื่อขับไล่สัตว์ต่าง ๆ เด็ดขาด เพราะมันเป็นการยั่วยุ และดึงดูดให้สัตว์เข้าหาคุณมากกว่าเดิม
- เมื่อพบเจอสัตว์ป่าอยู่บนถนน ควรหยุดรถให้ห่างอย่างน้อย 20 เมตร จากนั้นเปิดสัญญาณไฟกะพริบให้คันหลังรับรู้ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
- เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของสัตว์ เช่น ช้าง หรือลิง ให้ค่อย ๆ เคลื่อนรถออกไปอย่างช้า ๆ หากเป็นช่วงเวลากลางคืนให้เปิดไฟสูง อย่าดับไฟหน้ารถเด็ดขาด
- ติดเครื่องยนต์ไว้ตลอด เพื่อเตรียมพร้อมเคลื่อนรถอยู่เสมอ
- อย่าลงจากรถเพื่อถ่ายรูป รวมถึงควรงดใช้แสงแฟลชอย่างเด็ดขาด
ขอย้ำอีกครั้งว่าการเคลมประกันรถยนต์ กรณีขับรถชนสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ สามารถแจ้งเคลมประกันรอบคันได้ แต่จะไม่ใช่วิธีเคลมประกันแบบมีคู่กรณี ดังนั้นอาจต้องเตรียมค่า Excesss เอาไว้ด้วย แม้ว่าจะเป็นการเคลมประกันกับประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ตาม
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า | กฎหมายที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า |
สงวน | ถนอมรักษาไว้, รักษาให้คงไว้, รักษา และหวงแหนไว้ |
ระวางโทษ | โทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานใดฐานหนึ่ง |