Roojai

รถอายุเกิน 7 ปีมีวิธีต่อภาษีอย่างไรบ้าง

นับเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้ใช้รถยนต์ สำหรับการต่อ ‘ภาษี/ทะเบียน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีการต่อประจำทุกๆ ปี เพื่อให้ขับรถได้อย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย โดยสามารถต่อได้ล่วงหน้าก่อนทะเบียนรถของคุณๆ ท่านๆ จะหมดอายุไม่เกิน 3 เดือน และหากขาดต่อเมื่อขับไปบนท้องก็มีความผิดรวมทั้งต้องเสียค่าปรับเมื่อมีการเรียกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากไม่ยอมชำระโดยปล่อยปะละเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี ก็จะถูกระงับการใช้ทะเบียนโดยปริยาย

สำหรับการต่อภาษีโดยปกติทั่วๆ ไปในปัจจุบัน นับว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว มีทั้งการต่อผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่กรมขนส่งทางบก แต่ต้องอยู่ในประเภทรถที่กำหนดไว้ คือ รถเก๋ง รถตู้ รถกระบะไม่เกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์จะทะเบียนไม่เกิน 5 ปี และค้างชำระไม่เกิน 1 ปี โดยสามารถใช้บริการได้ทาง www.dlt.go.th ซึ่งสามารถแจ้งการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต (ตามธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ)

หรือหากจะไปที่กรมขนส่งทางบก ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกโดยไม่ต้องลงจากรถคือต่อแบบ Drive Thru ซึ่งเป็นตู้ๆ เหมือนช่องเก็บเงินทางด่วน โดยผู้ใช้รถต้องเตรียมเอกสารไปให้ครบถ้วน คือ สมุดรายการจดทะเบียน หรือสำเนารายการจดทะเบียน หลักฐานการทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยที่ยังไม่หมดอายุ โดยใช้เวลาในการทำรายการประมาณ 2-5 นาที ในกรณีรถมีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพ (ตรอ.) แนบไปด้วย

โดยในส่วนของรถมีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป ต้องมีขั้นตอนการตรวจสภาพเพิ่มเติม เนื่องด้วยกรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสภาพรถ ทั้งรถที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หรือนำมาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่น ๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ

โดยเจ้าของรถสามารถนำรถเข้ารับการตรวจสภาพได้สถานที่ตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้ยกเว้น รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้ หรือรถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถ หรือเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดต่ออายุทะเบียนเกิน 1 ปี ฯลฯ (รายละเอียดตามข้อ 7) ให้นำรถไปตรวจสภาพ ณ หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก

สำหรับระยะเวลาที่ต้องนำรถไปตรวจสภาพ การตรวจสภาพรถ เจ้าของสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี อัตราค่าตรวจสภาพรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

การไปติดต่อกับสถานตรวจสภาพรถให้เจ้าของรถนำรถและสมุดคู่มือทะเบียนรถไปแสดง หากผลการตรวจสภาพปรากฏว่า รถอยู่ในเกณฑ์ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ส่วนรถอยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้รถนั้นไม่ผ่านการตรวจสภาพให้เจ้าของทราบ เพื่อจะได้นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วนำมาตรวจใหม่ หากแก้ไขแล้วนำไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งเดิมภายใน 15 วัน จะเสียค่าตรวจใหม่ ในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่กำหนดไว้ แต่หากเกิน 15 วัน หรือไปตรวจที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งอื่นจะเสียค่าบริการเต็มอัตรา

การนับอายุใช้งานของรถ การนับอายุการใช้งานของรถ ให้นับอายุทางทะเบียนโดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) ส่วนรถที่ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก (สถานตรวจสภาพรถเอกชนไม่สามารถรับตรวจสภาพได้) รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้ รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น) รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)

รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้ รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปีรถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี