Roojai

10 จุดที่ต้องตรวจสอบทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

10 จุดที่ต้องตรวจสอบทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

นี่คือข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ สำหรับผู้ที่มีประกันภัยรถยนต์ ถึงแม้จะยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ แต่ผู้ใช้รถก็ควรจะศึกษารายละเอียดการตรวจสอบอุบัติเหตุและข้อมูลไว้ก่อน เผื่อเกิดเหตุการณ์จริง จะได้รับมือได้ทันท่วงที

1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่พยายามตั้งสติ อย่าตกใจ ให้เตรียมข้อมูลไว้แจ้งอุบัติเหตุ ได้แก่ ชื่อผู้ขับขี่ ทะเบียน ยี่ห้อ รุ่น สี โทรศัพท์ให้แจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุของบริษัทประกันภัยทันทีเพื่อตรวจสอบอุบัติเหตุในที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ รายละเอียดที่สำคัญคือ ลักษณะการเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ และจุดสังเกต ในบางกรณีถ้ามีการกีดขวางการจราจร มีการเคลื่อนย้ายรถหรือสถานที่นัดหมายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประกันภัยรถยนต์ทันที

2. กรณีเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี ให้รีบจดรายละเอียดรถคู่กรณี เช่น ความเสียหาย ยี่ห้อ สี ทะเบียน ให้ละเอียดที่สุด แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออาจรีบหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพเก็บไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นหลักฐาน

3. กรณีเฉี่ยวชนหลายคัน หากรถคู่กรณีคันใดขอแยกย้ายไปก่อนให้จดรายละเอียดผู้ขับขี่ และรถคู่กรณีรวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ เอาไว้

4. กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยด่วน จากนั้นแจ้งบริษัททันที แสดงหลักฐานให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบว่ามีประกัน พ.ร.บ. อย่าตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณี โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีเรื่องถึงสถานีตำรวจ

5. หากคู่กรณีเสียชีวิต ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและแจ้งบริษัทประกันภัยรถยนต์ทันที โดยผู้ขับขี่ต้องรับผิดทางอาญา ส่วนทางแพ่งบริษัทประกันภัย จะเข้าร่วมเจรจาและให้คำปรึกษา พร้อมทั้งรับผิดชอบค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และควรปรึกษาเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัยในการตกลงค่าเสียหายกับคู่กรณี

6. ห้ามแยกรถออกจากกันโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขีดเส้น หรือจนกว่าเจ้าหน้าที่บริษัทจะไปถึงที่เกิดเหตุ ห้ามตกลงค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น และอย่ายอมรับผิด หากไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดผิด ให้รอจนกว่าพนักงานจะไปถึงที่เกิดเหตุ หากคู่กรณีแสดงอาการพิรุธหรืออาจจะหนี ให้รีบจดรายละเอียดผู้ขับขี่รถคู่กรณี เช่น ชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงาน โทรศัพท์ และรายละเอียดรถคู่กรณี เช่น ความเสียหาย ยี่ห้อ สี ทะเบียน ไว้ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานจะไปถึงที่เกิดเหตุ

7. ในบางครั้งเราเป็นฝ่ายถูก และคู่กรณียอมรับผิด ให้คู่กรณียอมรับผิดโดยการลงชื่อในใบคำขอยอมรับผิดเสียก่อน แล้วจึงเคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร จดทะเบียนรถคู่กรณี ชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ของผู้ขับขี่ และเจ้าของรถยนต์ในกรณี ที่เจ้าของรถยนต์ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่เอง จดชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ของพยานในที่เกิดเหตุ มาด้วยถ้ามี แจ้งบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบอุบัติเหตุและสภาพความเสียหาย

8. ถ้าเราเป็นฝ่ายผิดแบบเต็มๆ ให้เขียนชื่อ ที่อยู่ โทรศัพท์ ให้แก่คู่กรณี เคลื่อนย้ายรถออกจากที่เกิดเหตุเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร แจ้งบริษัทประกันภัย ทันทีเพื่อตรวจสอบอุบัติเหตุและสภาพความเสียหาย

9. กรณีเป็นความเสียหายเฉพาะตัวรถ และตกลงกันได้ในที่เกิดเหตุ (Knock for Knock) ผู้ขับขี่ สามารถตกลงกันได้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด และจัดทำประกันภัยประเภทที่ 1 ทั้ง 2 ฝ่าย โดยรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งคู่ต้องเป็นรถเก๋ง ,รถบรรทุก (ไม่เกิน 3 ตัน) ,หรือ รถตู้ (จดทะเบียนไม่เกิน 15 ที่นั่ง ) สามารถเข้าสัญญา Knock for Knock ได้ ให้กรอกรายละเอียดต่างๆลงในเอกสารสำคัญ ใช้เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่บริษัทประกันภัยจัดส่งมอบให้พร้อมกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ขับขี่ทุกฝ่าย ลงลายมือชื่อในเอกสารสำคัญ แล้วแลกเปลี่ยนเอกสารสำคัญซึ่งกันและกัน นำเอกสารที่ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ติดต่อบริษัทประกันภัยของตนเองที่ได้เอาประกันภัยไว้โดยเร็วที่สุด

10. ถ้าผลจากอุบัติเหตุจนทำให้รถไม่สามารถขับขี่ได้ หรือไม่มั่นใจว่าขับไปแล้วจะไปถึงที่หมาย หรือสร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม ให้ผู้ขับขี่แจ้งกับพนักงานเคลม เพื่อขอใช้บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน นำรถของท่านเข้าอู่ หรือศูนย์บริการ